ไปยังหน้า : |
พระอานนท์ ได้ทูลถามว่า "มีอยู่หรือหนอ พระเจ้าข้า ! การที่ภิกษุได้สมาธิชนิดที่มีผลคือ ไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย ในกายอันมีวิญญาณนี้ ด้วย, ไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย ในนิมิตทั้งปวงในภายนอก ด้วย, และเธอนั้นเข้าถึงแล้วแลอยู่ ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย ด้วย, พระเจ้าข้า ?"
อานนท์ ! สมาธิที่ภิกษุได้แล้วมีผลเป็นอย่างนั้น มีอยู่.
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สมาธิที่ภิกษุได้แล้วมีผลเป็นอย่างนั้น มีอยู่ เป็นอย่างไรเล่า? พระเจ้าข้า!"
อานนท์ ! ความเพ่งเฉพาะของภิกษุในกรณีนี้ มีอยู่อย่างนี้ว่า "นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน (เย็น)" ดังนี้.
อานนท์ ! อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิชนิดที่มีผล คือ ไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย ในกายอันมีวิญญาณนี้ ด้วย, ไม่มีอหังการะมมังการะมามานุสัย ในนิมิตทั้งปวงในภายนอกด้วย, และเธอนั้นเข้าถึงแล้วแลอยู่ ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย ด้วย.
อานนท์ ! ข้อนี้เรากล่าวอาศัยคำกล่าว ในการตอบปัญหาแก่ปุณณกมาณพ ในปารายนสมาคม ว่า :-
"ท่านผู้ใด พิจารณาเห็นแล้ว ซึ่งสภาพยิ่งและหย่อนในโลก (ว่าเป็นของว่างเสมอกัน) ไม่มีความหวั่นไหวไปในอารมณ์ไหน ๆ ในโลกเลย, เป็นผู้รำงับสงบแล้ว ไม่มีกิเลสฟุ้งกลุ้มเหมือนควัน ไม่มีความทุกข์ความคับแค้นแล้ว เป็นผู้ไม่หวังอะไรแล้ว, เราตถาคตกล่าวผู้นั้น ว่าเป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งความเกิดและความแก่" ดังนี้แล.
(ข้อความแห่งคาถาข้างบนนี้ คือความหมายแห่งคำว่า "ไม่มีอหังการะมมังการะมานานุสัย).
- ติก. อํ. 20/168/471.