ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! เพ ราะอาศัยตาด้วย รูป ทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประการ (ตา+รูป+จักขุวิญญาณ ) นั่นคือผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.
บุคคลนั้น เมื่อสุขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่; อนุศัยคือราคะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น (ตสฺส ราคานุสโย อนุสติ);
เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่; อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.
เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่สุข ถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง ซึ่งเหตุให้เกิดเวทนานั้นด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัสสาทะ (อร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ ) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย; อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.
ภิกษุ ท.! บุคคลนั้นหนอ ยังละราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้; ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้; ยังถอนอวิชชานุสัย อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้; เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว, เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.
(ในกรณีแห่ง หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ได้ตรัสโดยทำ นองเดียวกันในกรณีแห่งตา).
- อุปริ.ม. 14/516/822.