ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการด้วยแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว ตัดเอาแก่นถือไปด้วยมั่นใจว่า "นี่ เป็นแก่นแท้" ดังนี้. บุรุษมีตาดี เห็นคนนั้นเข้าแล้ว ก็กล่าวว่า "ผู้เจริญคนนี้ช่างรู้จักแก่น, รู้จักกระพี้, รู้จักเปลือกสด, รู้จักสะเก็ดแห้งตามผิวเปลือก, รู้จักใบอ่อนที่ปลายกิ่ง. จริงดังว่า ผู้เจริญคนนี้ ต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวค้นหาแก่นไม้ จนถึงต้นไม้ใหญ่แก่นแล้ว ก็ตัดเอง แก่นแท้ถือไปด้วยมั่นใจว่า 'นี้ แก่นแท้' ดังนี้; สิ่งที่เขาจะต้องทำ ด้วยแก่นไม้ จักสำเร็จประโยชน์เป็นแท้" ดังนี้, นี้ฉันใด ;
ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ กุลบุตรบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน เพราะคิดเห็นว่า "เราถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ....(ข้อความต่อไป เหมือนกับข้อความตอนต้นของตอนสมยวิโมกข์ จนถึงข้อความที่ว่า) .... เธอไม่ทะนงตัวเพราะญาณทัสสนะอันนั้น, เธอไม่เมาไม่มัวเมาในญาณทัสสนะอันนั้น, ไม่ถึงความประมาทในญาณทัสสนะอันนั้น; เมื่อไม่ประมาทแล้ว เธอให้ อสมยวิโมกข์เกิดขึ้นได้.
ภิกษุ ท.! ข้อนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ คือข้อที่ภิกษุนั้น จะพึงเสื่อมคลายจาก อสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่มีสมัย) อันนั้นเลย.
ภิกษุ ท.! พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะแลเสียงเยินยอเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์, พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์.
ภิกษุ ท.! ก็ เจโตวิมุตติ ที่ไม่กำเริบอันใด มีอยู่, พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตตินั่นแหละเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย มีเจโตวิมุตตินั่นแหละเป็นแก่นสาร มีเจโตวิมุตตินั่นแหละ เป็นผลสุดท้ายของพรหมจรรย์ แล.
- มู. ม. 12/370-373/351-352