สมัยที่ไม่เหมาะสมสำหรับ ... ความเพียร

ภิกษุ ท. ! สมัยที่ไม่สมควรแก่การกระทำความเพียร 5 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่าง อย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ :-

1. ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ชรา ถูกความชราครอบงำ แล้ว. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 1 ที่ไม่สมควรกระทำความเพียร.

2. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเป็นผู้เจ็บไข้ ถูกความเจ็บไข้ครอบงำ แล้ว. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 2 ที่ไม่สมควรกระทำความเพียร.

3. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : เป็นสมัย ทุพภิกขภัย ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑะ (ก้อนข้าว) หาได้ยาก ไม่เป็นการสะดวกที่จะเป็นอยู่ตามสบาย. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 3 ที่ไม่สมควรกระทำความเพียร.

4. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : เป็นสมัยที่ มีภัย มีการกำเริบในป่าดง ประชาชนขึ้นล้อเลื่อนหนีไป. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 4 ที่ไม่สมควรกระทำความเพียร.

5. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : เป็นสมัยที่ สงฆ์แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันก็มีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน ใส่ความกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน. ในที่นั้นๆ ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใส ผู้ที่เคยเลื่อมใสก็เปลี่ยนไปโดยประการอื่น. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 5 ที่ไม่สมควรกระทำความเพียร.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล เป็นสมัยที่ไม่สมควรกระทำความเพียร 5 อย่าง.

ภิกษุ ท. ! สมัยที่สมควรกระทำความเพียร 5 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่าง อย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ :-

1. ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ หนุ่มแน่นกำยำ มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มอันเจริญแห่งปฐมวัย. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 1 ที่สมควรกระทำความเพียร.

2. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเป็นผู้ มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารที่ย่อยได้สม่ำเสมอ ปานกลาง ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน พอควรแก่การบำเพ็ญเพียร. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 2 ที่สมควรกระทำความเพียร.

3. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : เป็นสมัยที่ ภิกษาหาง่าย ข้าวกล้าไม่เสียหาย บิณฑะ (ก้อนข้าว) หาได้ง่าย เป็นการสะดวกที่จะเป็นอยู่ตามสบาย. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 3 ที่สมควรกระทำความเพียร.

4. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : มนุษย์ทั้งหลายสมัครสมานชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดุจดั่งนมผสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กัน เป็นอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 4 ที่สมควรกระทำความเพียร.

5. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : สงฆ์สามัคคี ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทสเดียวกัน อยู่เป็นผาสุก ; เมื่อสงฆ์สามัคคีกันก็ไม่มีการด่ากันและกัน ไม่มีบริภาษกันและกัน ไม่ใส่ความกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน. ในที่นั้นๆ ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสก็เลื่อมใส ผู้ที่เคยเลื่อมใสก็มีความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น สมัยที่ 5 ที่สมควรกระทำความเพียร.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล สมัยที่สมควรกระทำความเพียร 5 อย่าง.

- ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๕/๕๔.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง