ฎ. เป็นเหตุให้ได้สัญญาเวทยิดนิโรธ

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง เข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินั่นแหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า มีการทำเนวสัญญานาสัญญายตนะให้เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง แล้วละความรู้สึกที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นเสีย น้อมจิตไปสู่ความรำงับ ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือการกับสัญญาและเวทนาเสีย ด้วยการทำไม่ให้เจตสิกชื่อสัญญาและเจตสิกชื่อเวทนาได้ทำหน้าที่ของตนตามปรกติแต่ประการใดเลย. ความรู้สึกที่เป็นสัญญาและเวทนาตามปรกติธรรมดาจึงไม่ปรากฏ เรียกว่าเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ คือความดับไปแห่งสัญญาและเวทนา ตลอดเวลาเหล่านั้น ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า เข้าสู่นิโรธสมาบัติ หรือเรียกสั้นจนถึงกับว่าเข้านิโรธเฉย ๆ. การกระทำอันนี้ตั้งต้นขึ้นด้วยอานาปานสติสมาธิ ดังนั้นจึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงว่า อานาปานสติภาวนานั้น นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับปฏิบัติเพื่อทำอาสวะให้สิ้นโดยตรงแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการปฏิบัติที่ดำเนินไปในทางฝ่ายจิต หรือฝ่ายสมถะโดยส่วนเดียว จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ด้วยอาการอย่างนี้ และพร้อมกันนั้นซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าเป็นไปในทางไหน แต่เป็นประโยชน์ทั่วไปสำหรับการปฏิบัติทุกแนวก็คือ การอยู่ด้วยอานาปานสตินั้นไม่ลำบากกาย และไม่ลำบากตา ซึ่งนับว่าเป็นการพักผ่อนอยู่ในตัวเองเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว นับว่าเป็นอานิสงส์พิเศษส่วนหนึ่งของอานาปานสติ.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๐ - ๔๐๔/๑๓๒๗ - ๑๓๔๕.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง