ไปยังหน้า : |
“มีอยู่หรือหนอ พระเจ้าข้า ! การที่ภิกษุได้เฉพาะซึ่งสมาธิชนิดที่ไม่มีปฐวีสัญญาในดิน ไม่มีอาโปสัญญาในน้ำ ไม่มีเตโชสัญญาในไฟ ไม่มีวาโยสัญญาในลม ไม่มีอากาสานัญจายตนสัญญาในความไม่มีที่สุดแห่งอากาศ ไม่มีวิญญาณัญจายตนสัญญาในความไม่มีที่สุดแห่งวิญญาณ ไม่มีอากิญจัญญายตนในความไม่มีที่สุดแห่งความไม่มีอะไร ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนในความมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีอิธโลกสัญญาในโลกนี้ ไม่มีปรโลกสัญญาในโลกอื่น ไม่มีสัญญาแม้ในสิ่งที่เห็นแล้ว สิ่งที่ได้ยินแล้ว สิ่งที่รู้สึกแล้ว สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สิ่งที่บรรลุแล้ว สิ่งที่แสวงหาแล้ว สิ่งที่ใจติดตามแล้ว นั้น ๆ เลย ; แต่ก็ยังเป็นผู้มีสัญญาอยู่?”
อานนท์ ! การที่ภิกษุได้สมาธิชนิดที่เธอถามนั้น มีอยู่.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! การที่ภิกษุได้สมาธิชนิดนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า !”
อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า “นั่น สงบ รำงับ นั่น ประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”21.8 ดังนี้.
อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า การที่ภิกษุได้เฉพาะซึ่งสมาธิชนิดที่ไม่มีปฐวีสัญญาในดิน ไม่มีอาโปสัญญาในน้ำ ไม่มีเตโชสัญญาในไฟ ไม่มีวาโยสัญญาในลม ไม่มีอากาสานัญจายตนสัญญาในความไม่มีที่สุดแห่งอากาศ ไม่มีวิญญาณัญจายตนสัญญาในความไม่มีที่สุดแห่งวิญญาณ ไม่มีอากิญจัญญายตนในความไม่มีที่สุดแห่งความไม่มีอะไร ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนในความมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีอิธโลกสัญญาในโลกนี้ ไม่มีปรโลกสัญญาในโลกอื่น ไม่มีสัญญาแม้ในสิ่งที่เห็นแล้ว สิ่งที่ได้ยินแล้ว สิ่งที่รู้สึกแล้ว สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สิ่งที่บรรลุแล้ว สิ่งที่แสวงหาแล้ว สิ่งที่ใจติดตามแล้ว นั้น ๆ เลย ; แต่ก็ยังเป็นผู้มีสัญญาอยู่.
- เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๔๓/๒๑๔.
[ต่อไปนี้เป็นคำตอบของพระสารีบุตรต่อคำถามของพระอานนท์ ซึ่งถามอย่างเดียวกันกับที่ทูลถามพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรก็ได้ตอบอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบ จนกระทั่งพระอานนท์สรรเสริญว่า พระศาสดาและสาวกมีคำกล่าวตรงกัน ทั้งโดยอรรถะและโดยพยัญชนะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก.
แต่ในที่อื่นในคราวอื่น (ทสก. อํ ๒๔/๑๐/๗) พระสารีบุตรได้ตอบคำถามของพระอานนท์ซึ่งถามเรื่องเดียวกันนี้ คือเรื่องสมาธิที่ไม่มีสัญญาในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หากแต่ถามเว้นอารมณ์จำพวกสุดท้าย คือ สิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่ได้รู้สึก สิ่งที่ได้รู้แจ้ง สิ่งที่ได้บรรลุ สิ่งที่ได้แสวงหา สิ่งที่ใจติดตาม เสียเท่านั้น, ซึ่งโดยหลักเกณฑ์นี้แล้ว ท่านควรจะตอบด้วยคำตอบเดียวกัน คือตอบว่าการได้สมาธิที่มีสัญญาในนิพพานดังบทว่า นั่นสงบระงับ นั่นประณีต ดังนี้เป็นต้น, แต่ท่านกลับไปตอบว่าได้แก่ การได้สมาธิที่มีสัญญาว่า การดับไม่เหลือแห่งภพคือนิพพาน (ภวนิโรโธ นิพฺพานํ) ซึ่งเป็นสัญญาที่เคยเกิดแก่ท่านซ้ำ ๆ กันไปไม่ขาดสาย เหมือนเปลวไฟที่เกิดขึ้นทยอยกันฉันนั้น อันเป็นการได้สมาธิที่ได้เมื่อท่านอาศัยอยู่ที่ป่าอันธวัน ใกล้เมืองสาวัตถี.
ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตให้เห็นว่า คำตอบอย่างแรกโน้น บรรยายลักษณะของนิพพานในหลายแง่หลายมุม. ส่วนคำตอบในสูตรนี้ ระบุแต่เพียงแง่เดียวประเด็นเดียว ว่าได้แก่การดับไม่เหลือแห่งภพ. และขอให้เห็นลึกลงไปถึงว่า นิพพาน ไม่ได้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แต่ก็เป็นอารมณ์แห่งสัญญาได้เหมือนกัน สัญญาจึงเป็นสิ่งที่มีได้ทั้งในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ และในสิ่งที่มิได้เป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ กล่าวคือ ในพระนิพพานนั่นเอง. สรุปความว่า สัญญามีได้ทั้งในสิ่งที่เป็นสังขตะและอสังขตะ โดยลักษณะที่ตรงกันข้ามทีเดียว].