ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เรากล่าวแม้สัมมาทิฏฐิว่ามีอยู่โดยส่วนสอง คือ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ (สาสว)14.1 เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญฺญภาคิย) มีอุปธิเป็นวิบาก (อุปธิเวปกฺก) ก็มีอยู่, สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ (อริย) ไม่มีอาสวะ (อนาสว) เป็นโลกกุตตระ (โลกุตฺตร) เป็นองค์แห่งมรรค (มคฺคงฺค) ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือสัมมาทิฏฐิที่ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกะสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง และประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มีอยู่” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! นี้คือ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก.
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค นั้นเป็นอย่างไรเล่า? คือสัมมาทิฏฐิที่ได้แก่ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ และสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งมรรค ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็นอริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค. ภิกษุ ท. ! นี้คือ สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค.
- อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๑/๒๕๖-๒๕๘.
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า สัมมาทิฏฐิ ๆ คำเดียวกันนี้ แยกออกไปได้อย่างตรงกันข้าม คือพวกหนึ่งมีอาสวะ เป็นไปเพื่ออาสวะ มีส่วนแห่งบุญอันเป็นอุปธิ มีลักษณะเป็นตัวตน หรือเนื่องด้วยตัวตน ส่วนสัมมาทิฏฐิอีกชนิดหนึ่งนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ไม่มีลักษณะแห่งตัวตน ไม่เกี่ยวข้องกับบุญ แถมยังนำไปสู่โลกุตระด้วย จึงแบ่งแยกเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ ไม่พึงนำไปปนกัน หรือใช้แทนกันอย่างที่พูดกันอย่างสะเพร่าหรือหละหลวมจนเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาไม่ได้ ขอให้ช่วยกันระวังให้มากที่สุด).