ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! ภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, เวลาเช้า เธอครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่หมู่บ้านหรือนิคมนั้นเพื่อบิณฑบาต. ด้วยการรักษากาย, รักษาวาจา, รักษาจิต, ตั้งสติไว้มั่น, และด้วยการสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย, เธอได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการรวบถือเอาทั้งหมด (รวมเป็นภาพเดียว) ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการถือเอาโดยแยกเป็นส่วน ๆ; อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสจะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ซึ่งอินทรีย์อันเป็นต้นเหตุคือตาใด เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมซึ่งอินทรีย์นั้น ย่อมรักษา อินทรีย์คือตา ย่อมถึงการสำรวมในอินทรีย์คือตา.
(ในกรณีแห่ง อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น อินทรีย์คือกาย และอินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน).
ภิกษุนั้น ภายหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). เธออยู่ป่า หรืออยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมนั่งคู้ขา เข้าเป็นบัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า, เธอละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา ชำระจิตจากอภิชฌา อยู่; ละพยาบาทอันเป็นเครื่องประทุษร้าย มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งปวง ชำระจิตจากพยาบาทอันเป็นเครื่องประทุษร้าย อยู่; ละ ถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว ชำระจิตจากถีนมิทธะ อยู่; ละ อุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน ชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ อยู่; ละ วิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า “นี่อะไร นี่อย่างไร” ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉาอยู่.
ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ 5 ประการอันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต และทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านั้นได้แล้ว, เพราะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เธอเข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. เข้าถึงทุติยฌาน . . . . ตติฌาน . . . . จตุตถฌาน แล้วแลอยู่. (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับรูปฌานทั้ 4 นี้ได้ จากเรื่องที่มีรูปฌานทั้ง 4 เช่นหน้าที่ 1278 แห่งหนังสือเล่มนี้).
เธอนั้น ครั้งจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้ ถึงความไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเฉพาะต่อ อาสวักขยญาณ. เธอ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่านี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ; และย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ, นี้เหตุให้เกิดอาสวะ, นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไปเหลือแห่งอาสวะ. เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นทั้งจาก กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ; ครั้งจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณว่าหลุดพ้นแล้ว. เธอย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.
- ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๑๓ - ๑๑๔/๗๖.