ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ภิกษุไปสู่ป่าก็ตาม โคนไม้ก็ตาม หรือเรือนว่างก็ตาม พิจารณาเห็นอยู่ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะเหตุจะได้จีวรก็หามิได้ เพราะเหตุจะได้บิณฑบาตก็หามิได้ เพราะเหตุจะได้เสนาสนะก็หามิได้ เพราะเหตุจะได้เป็นอย่างนั้นจะได้เป็นอย่างนี้ก็หามิได้; แต่ว่าเราบวชแล้วโดยพิจารณาเห็นว่า ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว, ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏแก่เรา’ ดังนี้. อนึ่ง พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตน เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน : สพรหมจารีผู้รู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมนั้น ว่าเป็นดังนี้ก็มีอยู่. ก็เราบวชแล้วในธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ จะเป็นผู้เกียจคร้านประมาทอยู่ : ข้อนั้นไม่สมควรแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ว่า “ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักเป็นความเพียรไม่ย่อหย่อน, สติที่เข้าไปตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม, กายอันรำงับแล้ว ไม่กำเริบ, จิตตั้งมั่นแล้ว มีอารมณ์อันเดียว,” ดังนี้. ภิกษุนั้นกระทำพระธรรมให้เป็นใหญ่ ละอกุศลเจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษเจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์อยู่.
ภิกษุ ท.! นี้เราเรียกว่า ธัมมาธิปไตย.
- ติก. อํ. 20/188/479.
(อธิปไตยอย่างอื่นก็มีอยู่ คือปรารภประโยชน์ตนแล้วประพฤติไม่ย่อหย่อน เรียกว่าอัตตาธิปไตย ; และปรารภการติเตียนของผู้อื่นแล้วประพฤติไม่ย่อหย่อน เรียกว่าโลกาธิปไตย. ทั้งสองอย่างนี้ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่ควรถือเอาเป็นเครื่องเกื้อหนุนการปฏิบัติ ; แต่ให้ถือเอาธัมมาธิปไตยดังที่กล่าวแล้วข้างบน เป็นเครื่องเกื้อหนุนการปฏิบัติ จึงจะถูกต้องตามหลักของการทำที่สุดทุกข์ในพระพุทธศาสนา หรือตรงตามพระพุทธประสงค์).