ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ถ้า ธรรม 5 ประการ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ ทุพพลภาพคนใด ข้อนี้เป็นสิ่งที่เขาผู้นั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักกระทำให้แจ้งได้ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ต่อกาลไม่นานเทียว. ธรรมห้าประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ : -
เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่งามในกาย อยู่ ;
เป็นผู้มีปกติสำคัญว่าปฏิกูลในอาหาร อยู่ ;
เป็นผู้มีปกติสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง อยู่ ;
เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง อยู่ ;
มรณสัญญาอันเขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน อยู่.
ภิกษุ ท. ! ธรรม 5 ประการเหล่านี้ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ ทุพพลภาพคนใด ข้อนี้เป็นสิ่งที่เขาผู้นั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักกระทำให้แจ้งได้ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเทียว.
- ปญฺจก. อํ. 22/160/121.
[ธรรมทั้ง 5 ประการนี้ ในสูตรอื่น (ปญฺจก. อํ. 22/94/69) ตรัสไว้ไม่เฉพาะคนเจ็บไข้ แต่ตรัสไว้สำหรับคนทั่วไป ว่าเป็นธรรมที่เมื่อเจริญทำให้มากแล้ว จะเป็นไปพร้อมเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ดับสนิท สงบรำงับ รู้ยิ่ง รู้พร้อม และนิพพาน โดยส่วนเดียว.
สูตรถัดไปอีก (22/95/70) ตรัสว่า เมื่อเจริญทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย.
อีกสูตรถัดไปอีก (22/95/71) ตรัสว่า เมื่อเจริญทำให้มากแล้ว มีเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติเป็นผลเป็นอานิสงส์].