อริยสัจ 4 เป็นวัตถุแห่งกิจของปัญญินทรีย์

ภิกษุ ท. ! ปัญญินทรีย์ เป็นอย่างไรเล่า ? ในกรณีนี้คือ อริยสาวกเป็นผู้มีปัญญา ประกอบพร้อมแล้วด้วยปัญญาเครื่องให้ถึงซึ่งสัจจะแห่งการเกิดดับอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ. อริยสาวกนั้น รู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! การรู้นี้ เรากล่าวว่า ปัญญินทรีย์.23.3

-มหาวาร. สํ. 19/263/869.

[ในสูตรอื่น ได้ทรงแสดงลักษณะแห่งปัญญินทรีย์ ไว้ว่า :-]

สารีบุตร ! .... อริยสาวกจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า “สังสารวัฏฏ์เป็นสิ่งมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้ เบื้องต้นที่สุดย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังเล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาเป็นกองแห่งความมืดนั้น มีอยู่ ; นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต กล่าวคือ เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”. สารีบุตร ! ความรู้ชัดเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็นปัญญินทรีย์ของเธอนั้น.

-มหาวาร. สํ. 19/300/1020.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง