ผู้เป็นเกพลีบุคคล ในพุทธศาสนา

ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ (สตฺตฏฺฐานกุสโล) ผู้พิจารณาใคร่ครวญธรรมโดยวิธี 3 ประการ (ติวิธูปปริกฺขี) เราเรียกว่า เกพลี11.12 อยู่จบกิจแห่งพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดซึ่งรูป รู้ชัดซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งรูป รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งรูป รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งรูป รู้ชัดซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) แห่งรูป รู้ชัดซึ่งอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) แห่งรูป รู้ชัดซึ่งนิสสรณะ (อุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น) จากรูป (รวม 7 ประการ).

(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูป ทุกประการ ต่างกันแต่เพียงชื่อแห่งขันธ์ เท่านั้น).

ภิกษุุ ท.! รูป เป็นอย่างไรเล่า ? มหาภููตรูป 4 อย่างด้้วย รูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 อย่างด้วย : นี้เราเรียกว่ารูป ; การเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร; ความดับไม่เหลือแห่งรูป ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอาหาร ; มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งรูป, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ; สุขโสมนัสที่อาศัยรูปเกิดขึ้น อันใดๆ, นี้เป็น อัสสาทะแห่งรูป; ข้อที่รูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อันใด, นี้ เป็น อาทีนวะแห่งรูป; การนำออกเสียได้ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ กล่าวคือการละเสียได้ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูป อันใด, นี้เป็น นิสสรณะเครื่องออกจากรูป (รวมเป็นสิ่งที่ต้องรู้ชัด 7 อย่าง).

ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งรูปว่า อย่างนี้ คือรูป, อย่างนี้ คือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งรูป, อย่างนี้ คือความดับไม่เหลือแห่งรูป, อย่างนี้ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งรูป, อย่างนี้ คืออัสสาทะแห่งรูป, อย่างนี้ คืออาทีนวะแห่งรูป, อย่างนี้ คือ นิสสรณะแห่งรูป, ดังนี้แล้ว เป็น ผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไม่เหลือ แห่งรูป; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว. บุคคลเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า หยั่งในธรรมวินัยนี้.

ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งรูปว่า อย่างนี้ คือรูป, อย่างนี้ คือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งรูป, อย่างนี้ คือความดับไม่เหลือแห่งรูป, อย่างนี้ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งรูป, อย่างนี้ คืออัสสาทะแห่งรูป, อย่างนี้ คืออาทีนวะแห่งรูป, อย่างนี้ คือนิสสรณะแห่งรูป, ดังนี้แล้ว เป็นผู้ พ้นวิเศษแล้ว เพราะความเบื่อหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไม่เหลือ เพราะความไม่ยึดมั่น ซึ่งรูป. สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี (สุวิมุตฺตา).

บุคคลเหล่าใด เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเกพลี. บุคคลเหล่าใด เป็นเกพลี, วัฏฏะของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพื่อการบัญญัติ.

ภิกษุ ท.! เวทนา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งเวทนา 6 หมู่เหล่านี้ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา : นี้เราเรียกว่าเวทนา ; การเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ; ความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ; มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ นั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งเวทนา, ....ฯลฯ .... [ข้อความต่อไปนี้ มีเนื้อความอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่เพียงว่านี้เป็นกรณีแห่งเวทนาเท่านั้น ไปจนถึงคำว่า .... สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้วิเศษแล้วด้วยดี (สุวิมุตฺตา.) ].

บุคคลเหล่าใด เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเกพลี บุคคลเหล่าใด เป็นเกพลี, วัฏฏะของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพื่อการบัญญัติ.

ภิกษุ ท.! สัญญา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งสัญญา 6 หมู่เหล่านี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา : นี้เราเรียกว่าสัญญา ; ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ; ความดับไม่เหลือแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ; มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ นั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสัญญา, .... ฯลฯ .... [ข้อความต่อไปนี้ มีเนื้อความอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่เพียงว่านี้เป็นกรณีแห่งสัญญา เท่านั้นไปจนถึงคำว่า .... สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี (สุวิมุตฺตา).].

บุคคลเหล่าใด เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเกพลี. บุคคลเหล่าใด เป็นเกพลี, วัฏฏะของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพื่อการบัญญัติ.

ภิกษุ ท.! สังขาร ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งเจตนา 6 หมู่เหล่านี้ คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา : นี้เราเรียกว่า สังขารทั้งหลาย; ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ; ความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ; มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขาร, .... ฯลฯ .... [ข้อความต่อไปนี้ มีเนื้อความอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่เพียงว่านี้เป็นกรณีแห่งสังขารเท่านั้น ไปจนถึงคำว่า ....สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี (สุวิมุตฺตา).].

บุคคลเหล่าใด เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเกพลี, บุคคลเหล่าใด เป็นเกพลี, วัฏฏะของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพื่อการบัญญัติ.

ภิกษุุ ท.! วิญญาณ เป็นอย่่างไรเล่่า ? ภิกษุุ ท.! หมู่แห่่งวิญญาณ 6 หมู่เหล่านี้ คือจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ : นี้เราเรียกว่าวิญญาณ; ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป: ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ; มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ,.... ฯลฯ ... [ข้อความต่อไปนี้ มีเนื้อความอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่เพียงว่านี้เป็นกรณีแห่งวิญญาณเท่านั้น ไปจนถึงคำว่า ....สมณะหรือพราหมณ์์เหล่านั้น เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี (สุวิมุตฺตา).].

บุคคลเหล่าใด เป็นผู้พ้นวิเศษแล้วด้วยดี, บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเกพลี. บุคคลเหล่าใด เป็นเกพลี, วัฏฏะของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพื่อการบัญญัติ.

ภิกษุุ ท ! ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ (สตฺตฏฺฐานกุสโล) ด้วยอาการอย่างนี้ แล

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้พิจารณาใคร่ครวญธรรมโดยวิธี 3 ประการ (ติวิธูปปริกฺขี) นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมพิจารณาใคร่ครวญธรรม โดยความเป็น ธาตุ; ย่อมพิจารณาใคร่ครวญธรรม โดยความเป็น อายตนะ; ย่อมพิจารณาใคร่ครวญธรรม โดยความเป็น ปฏิจจสมุปบาท. ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้พิจารณาใคร่ครวญธรรมโดยวิธี 3 ประการ ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการด้วย เป็นผู้พิจารณาใคร่ครวญธรรมโดยวิธี 3 ประการด้วย เราเรียกว่า เกพลี อยู่จบกิจแห่งพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้, ดังนี้แล.

- ขนฺธ.สํ. 17/76-80/118-124.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง