ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงธรรมปริยาย อันแสดงความกระเสือกกระสนไปตามกรรม (ของหมู่สัตว์) แก่พวกเธอ. เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังให้ดี. ธรรมปริยายอันแสดงความกระเสือกกระสนไปตามกรรม (ของหมู่สัตว์) เป็นอย่างไร เล่า ?
ภิกษุ ท. ! สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น.
ภิกษุ ท. ! คนบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติทำปาณาติบาต หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต. เขากระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) กาย กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) วาจา กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง)ใจ ; กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาคด มโนกรรมของเขาคด ; คติของเขาคด อุปบัติของเขาคด. ภิกษุ ท. ! สำหรับผู้มีคติคด มีอุปบัติคดนั้น เรากล่าวคติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคติสองอย่าง แก่เขา คือ เหล่าสัตว์นรกผู้มีทุกข์โดยส่วนเดียว, หรือว่า สัตว์เดรัจฉานผู้มีกำเนิดกระเสือกกระสน ได้แก่ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้า หรือสัตว์เดรัจฉานเหล่าอื่น ที่เห็นมนุษย์แล้ว กระเสือกกระสน. ภิกษุ ท. ! ภูตสัตว์ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ คือ อุปบัติ (การเข้าถึงภพ) ย่อมมีแก่ภูตสัตว์, เขาทำกรรมใดไว้ เขาย่อมอุปบัติด้วยกรรมนั้น, ผัสสะทั้งหลายย่อมถูกต้องภูตสัตว์นั้นผู้อุปบัติแล้ว. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.
- ทสก. อํ. 24/309/193.
(ในกรณีแห่งบุคคลผู้ กระทำอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีของผู้กระทำปาณาติบาตดังกล่าวมาแล้วข้างบนทุกประการ ; และยังได้ตรัสเลยไปถึง วจีทุจริต 4 มโนทุจริต 3 ด้วยข้อความอย่างเดียวกันอีกด้วย.
ต่อไปนี้ ได้ตรัสข้อความฝ่ายกุศล :-)