สัญญาเกิดก่อนญาณ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง, หรือว่าญาณเกิดก่อน สัญญาเกิดทีหลัง, หรือว่าสัญญาและญาณ เกิดไม่ก่อนไม่หลังกัน (พร้อมกัน) ?”

โปฏฐปาทะ ! สัญญาแล เกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง, เพราะมีการเกิดแห่งสัญญา จึงมีการเกิดแห่งญาณ ดังที่เขานั้น (แต่ละคน ๆ) รู้สึกได้อย่างนี้ ว่า “เพราะ (สัญญา) นี้เป็นปัจจัย ญาณจึงเกิดขึ้นแก่เรา” ดังนี้. โปฏฐปาทะ ! เธอพึงทราบความข้อนี้ โดยนัยนี้ ว่า “สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง อย่างไร, เพราะมีการเกิดขึ้นแห่งสัญญา จึงมีการเกิดขึ้นแห่งญาณ อย่างนั้น” ดังนี้.

- สี. ที. ๙/๒๓๐/๒๘๘.

(โดยหลักจิตวิทยาตามธรรมชาติทั่วไป แห่งจิตวิทยาสมัยปัจจุบัน ทุกคนพอจะมองเห็นได้เองว่า สัญญา (PERCEPTION) จะต้องเกิดก่อนความรู้ (KNOWLEDGE) หรือญาณ (WISDOM) เสมอ ; คือเมื่อเรารู้จักหรือรู้สึกต่อสิ่งใดอย่างทั่วถึงแล้ว เราก็จะเกิดความรู้ว่า สิ่งนั้นมีเรื่องราว มีลักษณะ มีเหตุผล ฯลฯ เป็นอย่างไร, นี้สรุปว่า เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นแล้ว เราจึงจะมีความรู้เรื่องสิ่งนั้นโดยครบถ้วน. นี้คือ อาการที่สัญญาเกิดก่อนญาณ. ส่วนในทางธรรมะนั้น ต้องทำสัญญา (การกำหนด) ในสิ่งที่นำมาเป็นอารมณ์ของสมาธิหรือวิปัสสนานั้นเสียก่อนอย่างทั่วถึง แล้วก็จะเกิดความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เช่นรู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไร เป็นต้น ต่อภายหลัง ซึ่งเรียกว่าญาณ ; มีสัญญาและญาณเป็นคู่ ๆ ดังนี้ เป็นลำดับ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงสัญญาและญาณคู่สุดท้าย เช่น สัญญาในความหลุดพ้น ก็เกิดญาณว่าหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ ซึ่งเป็นญาณสุดท้ายในทางธรรม).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง