ไปยังหน้า : |
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการรื้อถอนซึ่งโอฆะ โดยข้อปฏิบัติซึ่งประกอบด้วยธรรม 2 อย่าง คือ ด้วยสีลวิสุทธิ์ และด้วยตโปชิคุจฉะ (การเกียจกันบาปด้วยตบะ). ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร ?”
สาฬ๎หะเอ๋ย ! เรากล่าวสีลวิสุทธิ์ว่าเป็นองค์แห่งสามัญญปฏิบัติองค์ใดองค์ 1. ส่วนสมณพราหมณ์พวกที่เป็นตโปชิคุจฉวาท (การสอนเกียจกันบาปด้วยตบะ) มีตโปชิคุจฉะเป็นสาระ เกลือกกลั้วพัวพันอยู่ในตโปชิคุจฉะ เป็นพวกที่ไม่สมควรที่จะรื้อถอนซึ่งโอฆะ ; ถึงแม้สมณพราหมณ์พวกที่มีกายสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีมโนสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ พวกนั้นก็ไม่ควรแก่ญาณทัสสนะ และแก่ความรู้พร้อมอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า (อนุตฺตรสมฺโพธ).
สาฬ๎หะ ! เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะข้ามแม่น้ำ ถือขวานกุฏฐารีเข้าไปสู่ป่า เห็นต้นสาละใหญ่ ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีส่วนน่ารังเกียจ เขาตัดต้นไม้นั้นที่โคน แล้วตัดที่ปลาย ริดกิ่งและใบออกหมดจด แล้วถากด้วยขวานกุฏฐารี แล้วถากด้วยมีด ขูดด้วยเครื่องขูด ขัดให้เกลี้ยงด้วยก้อนหินกลม แล้วปล่อยลงน้ำ. สาฬ๎หะ ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : บุรุษนั้นอาจจะข้ามแม่น้ำไปได้หรือหนอ ? “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !” ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะท่อนไม้สาละนั้น ทำบริกรรมถูกต้องแต่ภายนอก ภายในไม่ถูกต้อง (สำหรับความที่จะเป็นเรือ) เลย สิ่งที่บุรุษนั้นจะหวังได้คือ ท่อนไม้สาละนั้นจักจมลง บุรุษนั้นจักถึงความพินาศ พระเจ้าข้า !"
สาฬ๎หะ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : สมณพราหมณ์พวกที่เป็นตโปชิคุจฉวาท ก็ไม่อาจที่จะถอนซึ่งโอฆะ แม้พวกที่มีสมาจารไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่ควรแก่ญาณทัสสนะ และแก่อนุตตรสัมโพธะ ฉันนั้นเหมือนกัน.
(ต่อไปได้ตรัสข้อความอันเป็นปฏิปักขนัย ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผู้อ่านอาจจะเปรียบเทียบได้เองจนตลอดเรื่อง).
- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๗๑ - ๒๗๔/๑๙๖.