ข. มัชฌิมาปฏิปทา (ในความหมายชั้นกว้าง)

.... ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ .... มีปกติ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ .... มีปกติ ตามเห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ .... มีปกติ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ; .... เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ; .... เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ; .... เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยฉันทะ เป็นปธานกิจ ; ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยวิริยะ เป็นปธานกิจ ; ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยจิตตะ เป็นปธานกิจ ; ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยวิมังสา เป็นปธานกิจ ; (กิจในที่นี้คือ กิจเกี่ยวกับการระวัง การละ การทำให้เกิดมี และการรักษา).

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญสัทธินทรีย์ ย่อมเจริญ วิริยินทรีย์ ย่อมเจริญ สตินทรีย์ ย่อมเจริญ สมาธินทรีย์ ย่อมเจริญ ปัญญินทรีย์.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญสัทธาพละ ย่อมเจริญ วิริยพละ ย่อมเจริญ สติพละ ย่อมเจริญ สมาธิพละ ย่อมเจริญ ปัญญาพละ.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญสัมมาทิฏฐิ ย่อมเจริญ สัมมาสังกัปปะ ย่อมเจริญ สัมมาวาจา ย่อมเจริญ สัมมากัมมันตะ ย่อมเจริญ สัมมาอาชีวะ ย่อมเจริญ สัมมาวายามะ ย่อมเจริญ สัมมาสติ ย่อมเจริญ สัมมาสมาธิ.

ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

- ติก. อํ. ๒๐/๓๘๐ – ๓๘๒/๕๙๖ – ๕๙๗.

(มัชฌิมาปฏิปทาตามที่ทรงแสดงไว้ในสูตรนี้ เห็นได้ว่า ทรงแสดงส่วนสุดสองข้างไว้ด้วยอาคาฬ๎หปฏิปทา คือความตกไปในกาม และนิชฌามปฏิปทา คือวัตตปฏิบัติของอเจลกะ ซึ่งเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า อัตตกิลมถานุโยค หรือตปัสสีวัตร ซึ่งมีรายละเอียดหาดูได้ในหนังสือ พุ. โอ. ที่หน้า 56 - 57. ในที่นี้จะเห็นได้ว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งสามสิบเจ็ดข้อนั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทา ; หรือถึงกับจะกล่าวได้ว่า ข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมกันแล้วเรียกได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือพรหมจรรย์ทั้งสิ้น, นั่นแหละคือมัชฌิมาปฏิปทา).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง