ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ! ในกาลใดแล สมาธินี้ (ในพรหมวิหารทั้ง 4 ดังที่กล่าวมาแล้วนี้) อันเธอเจริญ เจริญแล้วด้วยดีอย่างนี้ ; ในกาลนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่” ดังนี้. ภิกษุ ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล.
ภิกษุ ! ในกาลใดแล สมาธินี้ อันเธอเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ; ในกาลนั้น เธอ พึงเจริญซึ่งสมาธินี้ :-
ให้เป็นธรรมมีวิตกมีวิจาร บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีวิตก มีแต่เพียงวิจาร บ้าง
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีวิตกไม่มีวิจาร บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมเป็นไปกับด้วยปีติ บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีปีติ บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมสหรคตด้วยความอุเบกขา บ้าง ;
ภิกษุ ! ในกาลใดแล สมาธินี้ อันเธอเจริญ เจริญด้วยดีแล้วอย่างนี้ ; ในกาลนั้นเธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่” ดังนี้. ภิกษุ ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ แล.
ภิกษุ ! ในกาลใดแล สมาธินี้ อันเธอเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ; ในกาลนั้น เธอพึงเจริญซึ่งสมาธินี้ :-
ให้เป็นธรรมมีวิตกมีวิจาร บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีวิตก มีแต่เพียงวิจาร บ้าง
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีวิตกไม่มีวิจาร บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมเป็นไปกับด้วยปีติ บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมไม่มีปีติ บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมสหรคตด้วยความยินดี บ้าง ;
พึงเจริญให้เป็นธรรมสหรคตด้วยความอุเบกขา บ้าง.
(ในกรณีแห่ง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีข้อความที่ตรัสไว้ มีลำดับ 7 อย่าง อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งกายา – เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน).