ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เมื่อบุคคลมีมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา …. ฯลฯ …. มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ เสียแล้ว, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เขากระทำเต็มที่ตามทิฏฐินั้น ใด ๆ ก็ดี เจตนา ก็ดี ความปรารถนา ก็ดี ปณิธาน ก็ดี สังขาร (การปรุงแต่ง) ใด ๆ ก็ดี ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดของบุคคลนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้นเป็นทิฏฐิชั่ว (ปาปิก). ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน พรรณไม้สะเดา พรรณไม้บวบขม พรรณไม้น้ำเต้าขม ที่เขาปลูกลงไปในดินเปียก ; พืชนั้นเข้าไปจับเอารสแห่งดินและรสแห่งน้ำใด ๆ รสแห่งดินและรสแห่งน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม ของเผ็ดร้อน ของไม่อร่อย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าพืชนั้นเป็นพืชชั่ว, ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุ ท. ! เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา …. ฯลฯ …. สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ แล้ว, กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เขากระทำเต็มที่ตามทิฏฐินั้น ใด ๆ ก็ดี เจตนา ก็ดี ความปรารถนา ก็ดี ปณิธาน ก็ดี สังขาร ใด ๆ ก็ดี ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดของบุคคลนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นประโยชน์เกื้อกูล. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ทิฏฐินั้นเป็นทิฏฐิดี (ภทฺทิก). ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน พืชพรรณอ้อย พืชพรรณข้าวสาลี พืชพรรณองุ่น (มุทฺทิก) ที่เขาปลูกลงไปในดินเปียก ; พืชนั้นเข้าไปจับเอารสแห่งดินและรสแห่งน้ำใด ๆ รสแห่งดินและรสแห่งน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสน่ายินดี รสหวาน รสชุ่มฉ่ำ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าพืชนั้นเป็นพืชดี, ฉันใดก็ฉันนั้น.
- ทสก. อํ. 24/226 - 228/104.