ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ธรรมทั้งหลาย 4 ประการ เหล่านี้ เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา (ปญฺญาวุฑฺฒิ). ธรรม 4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการ คือ :-
การคบหากับสัปบุรุษ (สปฺปุริสสํเสว) ;
การฟังพระสัทธรรม (สทฺธมฺมสฺสวน) ;
การทำในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ;
การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ).
ภิกษุ ท. ! ธรรม 4 ประการ เหล่านี้แล เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา.
- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๓๒/๒๔๘.
[ ธรรม 4 ประการเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเครื่องเจริญแห่งปัญญาแล้ว ยังได้ตรัสไว้ในบาลีแห่งอื่นอีก ดังนี้ ว่า : -
เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่มนุษย์ (มนุสฺสภูตพหุการ) (๒๑/๓๓๒/๒๔๙) ;
เป็นองค์คุณเครื่องให้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน (โสตาปตฺติยงฺค) (๑๙/๔๓๔/๑๔๒๙) ;
เป็นเครื่องทำให้แจ้งซึ่งโสตาปัตติผล (โสตาปตฺติผลสจฺฉิกิริยา) (๑๙/๕๑๖/๑๖๓๔) ;
เป็นเครื่องทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล (สกทาคามิผลสจฺฉิกิริยา) (๑๙/๕๑๗/๑๖๓๕) ;
เป็นเครื่องทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล (อนาคามิผลสจฺฉิกิริยา) (๑๙/๕๑๗/๑๖๓๖) ;
เป็นเครื่องทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล (อรหตฺตผลสจฺฉิกิริยา) (๑๙/๕๑๗/๑๖๓๗) ;
เป็นเครื่องให้ได้เฉพาะซึ่งปัญญา (ปญฺญาปฏิลาภ) (๑๙/๕๑๗/๑๖๓๘) ;
เป็นเครื่องให้มีความไพบูลย์แห่งปัญญา (ปญฺญาเวปุลฺล) (๑๙/๕๑๗/๑๖๔๐) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาอันใหญ่หลวง (มหาปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๑) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาอันหนาแน่น (ปุถุปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๒) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาอันไพบูลย์ (วิปุลปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๓) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาอันลึกซึ้ง (คมฺภีรปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๔) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาอันหาประมาณมิได้ (อปฺปมตฺตปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๕) ;
เป็นเครื่องให้มีปัญญาเสมือนแผ่นดิน (ภูริปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๖) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มากด้วยปัญญา (ปญฺญาพาหุลฺล) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๗) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาฉับพลัน (สีฆปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๘) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาไว (ลหุปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๔๙) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาอันร่าเริง (หาสปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๕๐) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาแล่น (ชวนปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๕๑) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาคมกล้า (ติกขฺปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๕๒) ;
เป็นเครื่องให้เป็นผู้มีปัญญาเครื่องเจาะแทง (นิพฺเพธิกปญฺญตา) (๑๙/๕๑๘/๑๖๕๓).]