สัญญาในอุปาทานระงับไป เมื่ออารมณ์แห่งสัญญานั้นเป็นวิภูตะ

(ขอให้ผู้ศึกษาอดทนอ่านข้อความอันเป็นอุปมาในตอนต้น ซึ่งค่อนข้างจะยืดยาวให้เห็นชัดเสียก่อน ว่า ม้ากระจอกกับม้าอาชาไนยต่างกันอย่างไร จึงจะเข้าใจความต่างระหว่างผู้ที่เพ่งด้วยความยึดถือและเพ่งด้วยความไม่ยึดถือ จึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า วิภูตะ-ความเป็นแจ้งของผู้ที่เพ่งด้วยความไม่ยึดถือ).

สันธะ ! เธอจงเพ่งอย่างการเพ่งของสัตว์อาชาไนย; อย่าเพ่งอย่างการเพ่งของสัตว์กระจอก.

สันธะ ! อย่างไรเล่า เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์กระจอก ? สันธะ ! ม้ากระจอก ถูกผูกไว้ที่รางเลี้ยงอาหาร ใจของมันก็จะเพ่งอยู่แต่ว่า "ข้าวเปลือก ๆ " เพราะเหตุไรเล่า? สันธะ! เพราะเหตุว่ามันไม่มีแก่ใจที่จะคิดว่า "วันนี้ สารถีของเราต้องการให้เราทำอะไรหนอ เราจะตอบสนองเขาอย่างไรหนอ" ; มันมัวเพ่งอยู่ในใจว่า "ข้าวเปลือก ๆ" ดังนี้.

สันธะ ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุกระจอกบางรูปในกรณีนี้ ไปแล้ว สู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่าก็ตาม มีจิตถูกามราคานิวรณ์กลุ้มรุม ห่อหุ้ม อยู่. เขาไม่รู้ตามเป็นจิรงซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกจากกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว; เขากระทำกามราคะนั้น ๆ ให้เนื่องกันไม่ขาดสายเพ่งอยู่ เพ่งทั่วอยู่ เพ่งโดยไม่เหลืออยู่ เพ่งลงอยู่. (ในกรณีแห่ง พยาบาท-ถิ่นมิทธะ-อุทธัจจกุกกุจจะ-และวิจิกิจฉานิวรณ์ ก็ได้เป็นไปในลักษณะอย่างเดียวกันกับกรณีแห่งกามราคะนิวรณ์). ภิกษุนั้นย่อมเพ่งอาศัยความสำคัญว่าดินบ้าง ย่อมเพ่งอาศัยความสำคัญว่าน้ำบ้าง อาศัยความสำคัญว่าไฟบ้าง อาศัยความสำคัญว่าลมบ้าง ว่าอากาสานัญจายตนะบ้าง ว่าวิญญาณัญจายตนะบ้างว่า อากิญจัญญายตนะบ้าง ว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง ว่าโลกนี้บ้าง ว่าโลกอื่นบ้าง อาศัยความสำคัญว่า "สิ่งที่เราเห็นแล้ว". "สิ่งที่เราฟังแล้ว", "สิ่งที่เรารู้สึกแล้ว", "สิ่งที่เรารู้แจ้งแล้ว", "สิ่งที่เราบรรลุแล้ว", "สิ่งที่เราแสวงหาแล้ว", "สิ่งที่ใจของเราติดตามแล้ว" แต่ละอย่าง ๆ เป็นต้น ดังนี้บ้าง, เพ่งอยู่. สันธะ !อย่างนี้แล เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์กระจอก.

สันธะ ! อย่างไรเล่า เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์อาชาไนย ? สันธะ ! ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ถูกผูกไว้ที่รางเลี้ยงอาหาร ใจของมันจะไม่เพ่งอยู่แต่ว่า "ข้าวเปลือก ๆ" เพราะเหตุไรเล่า ? สันธะ ! เพราะเหตุว่า แม้ถูกผูกอยู่ที่รางเลี้ยงอาหาร แต่ใจของมันมัวไปคิดอยู่ว่า "วันนี้ สารถีของเราต้องการให้เราทำอะไรหนอ เราจะตอบสนองเขาอย่างไรหนอ" ดังนี้; มันไม่มัวแต่เพ่งอยู่ ในใจว่า "ข้าวเปลือก ๆ" ดังนี้. สันธะ ! ก็ม้าอาชาไนยนั้น รู้สึกอยู่ว่า การถูกลงปะฏักนั้นเป็นเหมือนการใช้หนี้ การถูกจองจำ ความเสื่อมเสีย เป็นเหมือนเสนียดจัญไร.

(ขอให้สังเกตว่า แม้อยู่ในที่เดียวกัน ต่อหน้าสถานการณ์อย่างเดียวกัน ม้าสองตัวนี้ก็มีความรู้สึกอยู่ใจใจคนละอย่างตามความต่างของมัน คือตัวหนึ่งเพ่งแต่จะกิน ตัวหนึ่งเพ่งแต่ในหน้าที่ ที่จะไม่ทำให้บกพร่องจนถูกลงโทษ; ดังนี้เรียกว่า มีความเพ่งต่างกันเป็นคนละอย่าง).

สันธะ ! ภิกษุอาชาไนยผู้เจริญ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม, มีจิตไม่ถูกกามราคนิวรณ์กลุ้มรุม ห่อหุ้ม อยู่, เขาเห็นตามเป็นจริงซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว. (ในกรณีแห่ง พยาบาล-ถิ่นมิทธะ-อุทธัจจกุกกุจะ-และวิจิกิจฉานิวรณ์ ก็ได้เป็นไปในลักษณะอย่างเดียวกันกับกรณีแห่งกามราคะนิวรณ์). ภิกษุนั้น ย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่าดิน ย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่าน้ำ ไม่อาศัยความสำคัญว่าไฟ ไม่อาศัยความสำคัญว่าลม ไม่อาศัยความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าเนวสีญญานาสัญญายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าโลกนี้ ไม่อาศัยความสำคัญ ว่าโลกอื่น ย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่า "สิ่งที่เราเห็นแล้ว". "สิ่งที่เราฟังแล้ว ", "สิ่งที่เรารู้สึกแล้ว", "สิ่งที่เรารู้แจ้งแล้ว", "สิ่งที่เราบรรลุแล้ว", "สิ่งที่เราแสวงหาแล้ว", "สิ่งที่ใจของเราติดตามแล้ว" แต่ละอย่าง ๆ เป็นต้น ดังนี้บ้าง, เพ่งอยู่ ๆ. สันธะ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการบุรุษอาชาไนยผู้เจริญผู้เพ่งอยู่อย่างนี้ มาแต่ที่ไกลทีเดียว กล่าวว่า :-

"ข้าแต่บุรุษอาชาไนยผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้รู้ยิ่งสิ่งทั้งปวง ด้วยสิ่งที่ท่านอาศัยแล้วเพ่ง" ดังนี้.

(เมื่อตรัสดังนี้แล้ว สันธภิกษุได้ทูลถามว่า :-)

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ เพ่งอย่างไรกัน ชนิดที่ไม่อาศัยดินหรือน้ำเป็นต้นแล้วเพ่ง จนกระทั่งพวกเทวดาพากันสรรเสริญว่าดังนั้น พระเจ้าข้า ?"

(ต่อไปนี้ เป็นคำตรัสที่แสดงให้เห็นว่า สัญญาต่าง ๆ จะถูกเพิกถอนไป เมื่ออารมณ์แห่งสัญญานั้นเป็นที่แจ่มแจ้งแก่ผู้เพ่ง ว่าสิ่งนั้น ๆ มิได้เป็นตามที่คนธรรมดาสามัญที่สำคญว่าเป็นอย่างไร; ขอให้ผู้ศึกษาตั้งใจทำความเข้าใจให้ดีที่สุด ดังต่อไปนี้ :-)

สัทธะ ! ในกรณีนี้ ปฐวีสัญญา (ความสำคัญในดินว่าดิน) ย่อมเป็นแจ้ง (วิภูติ-เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง) แก่บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ (ว่าดินที่สำคัญกันว่าเป็นดินนั้น หาใช่ดินไม่ หากแต่เป็นเพียงสังขตธรรมตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา - ตามนัยแห่งอรรถกถา : มโนรถปูรณีี ภ. 3 น. 432). ความสำคัญในน้ำว่าน้ำ, ความสำคัญในไฟว่าไฟ, ความสำคัญในลมว่าลม, ความสำคัญในอากาสานัญจายตนะว่าอากาสานัญจายตนะ, ความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะว่าวิญญาณัญจายตนะ, ความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าอากิญจัญญายตนะ, ความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนะว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ, ความสำคัญในโลกนี้ว่าโลกนี้, ความสำคัญในโลกอื่นว่าโลกอื่น, ความสำคัญในสิ่งที่เห็นแล้ว ฟังแล้ว ฯลฯ ว่า "สิ่งที่เราเห็นแล้ว" "สิ่งที่เราฟังแล้ว" ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นแจ้งแก่บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ (ว่าสิ่งเหล่านั้น หาได้เป็นดังที่สำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นอะไร ๆ กันนั้นไม่ หากแต่เป็นสังขตธรรมตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา คือ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา -ตามนัยแห่งอรรกถา : มโนรถปูรณี ภ. 3 น.432).

สันธะ ! บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ เพ่งอยู่อย่างนี้ จึงได้ชื่อว่า ไม่อาศัยความสำคัญว่าดินแล้วเพ่ง ไม่อาศัยความสำคัญว่าน้ำแล้วเพ่ง ไม่อาศัยความสำคัญว่าไฟแล้วเพ่ง เป็นต้น จนกระทั่งพวกเทวดาพากันสรรเสริญว่าดังนั้น.

- เอกทสก. อํ. 24/348/216.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง