การฟังอริยสัจ เหมาะสำหรับจิตที่ฟอกแล้วเท่านั้น

ภิกษุ ท.! ครั้งนั้นแล มหาชนชาวพันธุมดีราชธานี จํานวนแปดหมื่นสี่พันคน ออกจากเมือง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาควิปัสสีถึงที่ประทับ ณ เขมมิคทายวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่งงอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาควิปัสสีได้ตรัส อนุปุพพิกถา แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น กล่าวคือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา ทรงประกาศ โทษอันเศร้าหมองต่ำทรามของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม.

ครั้นทรงทราบว่าชนเหล่านั้นมีจิตเหมาะสม อ่อนโยน ปราศจาก นิวรณ์ ร่าเริง แจ่มใส แล้ว, ก็ได้ตรัส ธรรมเทศนาซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง ยกขึ้นแสดงเอง กล่าวคือ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ และ เรื่องมรรค. เปรียบเสมือนผ้าอันสะอาด ปราศจากสิ่งแปดเปื้อน ย่อมรับเอาซึ่งน้ำย้อมได้อย่างดี ฉันใด; ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่มหาชน แปดหมื่นสี่พันเหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นเองว่า "สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" ดังนี้, ฉันนั้นเหมือนกัน.

ชนเหล่านั้นมีธรรมอันเห็นแล้ว บรรลุแล้ว รู้แจ้งแล้ว หยั่งเอาได้ ครบถ้วนแล้ว หมดความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความกล้าหาญ ไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นในคําสอนแห่งศาสดาตน ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาค วิปัสสีว่า "ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ! ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ! เปรียบเหมือนการหงาย ของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่ปิดอยู่ บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือว่าจุดประทีปไว้ในที่มืด เพื่อว่าคนมีตาจักได้เห็นรูป, ฉันใดก็ฉันนั้น" ดังนี้.

- มหา. ที. 10/49/49.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง