ไปยังหน้า : |
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า "อาวุโส! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร ความเคยชินแห่งการถือตัวว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา (อหงฺการมมงฺการมานานุสย) ในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้และในนิมิตทั้งหลายทั้งปวงในภายนอก จึงจะถูกถอนขึ้นด้วยดี?" ดังนี้.
ภิกษุ ท.! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันตามลุถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ จริง, ธรรมที่ภิกษุนั้นสมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่างนี้ว่า :-
"อาวุโส ! ในกาลก่อน เมื่อข้าพเจ้าครองเรือนอยู่ ยังเป็นผู้ไม่รู้ ไม่เห็นอะไร ครั้นพระตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว กลับได้สัทธาในพระตถาคตแล้ว พิจารณาเห็นอยู่ว่า 'ชีวิตฆราวาสเป็นของคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี การบรรพชาเป็นโอกาสโล่ง ไม่เป็นการง่ายเลยที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วได้ ถ้ากระไรเราปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะแล้ว บวชจากเรือนถึงความเป็นผู้ไม่มีเรือนเถิด' ดังนี้. ครั้นสมัยอื่นอีก ข้าพจ้า ละกองโภคะใหญ่น้อย ละวงศ์ญาติใหญ่น้อย ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ บวชจากเรือน ถึงความเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว.
"ข้าพเจ้านั้น ครั้นบวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ ของภิกษุทั้งหลาย ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศาสตราเสียแล้ว มีความละอายต่อบาป มีความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายแล้ว; ข้าพเจ้า ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เจ้าของให้ หวังอยู่แต่ในของที่เจ้าของเขาให้ เป็นคนสะอาดไม่เป็นคนขโมยแล้ว; ข้าพเจ้า ละกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์โดยปกติประพฤติห่างไกลเว้นขาดจากการเสพเมถุน อันเป็นของสำหรับชาวบ้านแล้ว; ข้าพเจ้า ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง รักษาคำสัตย์ มั่นคงในคำพูด ควรเชื่อได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลกแล้ว; ข้าพเจ้า ละการกล่าวคำ ส่อเสียด เว้นขาดการปิสุณาวาท ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่เก็บมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น แต่จะสมานชนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนชนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันแล้ว; ข้าพเจ้า ละการกล่าวคำหยาบ เว้นขาดจากผรุสวาท กล่าวแต่วาจาที่ปราศจากโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพ ที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชนแล้ว; ข้าพเจ้า ละคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ กล่าวแต่ในเวลาสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นวาจามีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีเวลาจบ เต็มไปด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลาแล้ว; ข้าพเจ้าเว้นขาดจาก การล้างผลาญ พืชคาม และภูตคามแล้ว; เป็นผู้ ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว เว้นจากการ ฉันในราตรีและวิกาล; เป็นผู้เว้นขาดจากการรำ การขับ การร้อง การประโคม และดูการเล่นชนิดที่เป็นข้าศึกแก่กุศล ; เป็นผู้เว้นขาดจาก การประดับ ประดา คือทัดทรงตบแต่งด้วยมาลาและของหอม เครื่องลูบทา; เป็นผู้เว้นขาดจากการ การนอน บนที่นอนสูงใหญ่; เป็นผู้เว้นขาดจาก การรับเงินและทอง; เว้นขาดจาก การรับข้าวเปลือก;' เว้นขาดจาก การรับเนื้อดิบ การ รับหญิง และเด็กหญิง การ รับทาสีและทาส การรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง ม้า โค ลา; เว้นขาดจาก การรับที่นา ที่สวน; เว้นขาดจาก การรับใช้ เป็นทูตไปในที่ต่าง ๆ (ให้คฤหัสถ์); เว้นขาดจาก การซื้อ การขาย การฉ้อโกงด้วยตาชั่ง การลวงด้วยของปลอม การฉ้อด้วยเครื่องนับ (เครื่องตวงและเครื่องวัด); เว้นขาดจาก การโกงด้วยการรับสินบน และล่อลวง การตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่มทำร้าย การปล้น การกรรโชก แล้ว.
"ข้าพเจ้า ได้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย และ ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปในที่ใด ๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมดเหมือนนกมีปีก จะบินไปในที่ใด ๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตนเท่านั้นบินไป, ฉันใดก็ฉันนั้น แล้ว.
"ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว จึงรู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งอนวัชชสุขในภายในแล้ว. ข้าพเจ้า เห็นรูปด้วยตา แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี) ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), บาปอกุศลกล่าวคือ อภิชฌาและโทมนัส พึงไหลไปตามผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, ข้าพเจ้าปฏิบัติปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ รักษาถึงการสำรวมอินทรีย์คือตานั้น แล้ว. (ในกรณีแห่งการ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยผิวกาย และ รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งการเห็นรูปด้วยตาข้างบนนี้).
"ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว จึงรู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งอัพยาเสกสุข. ข้าพเจ้า รู้ตัวรอบคอบ ในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะ, การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูดการนิ่งแล้ว.
"ข้าพเจ้านั้น ประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอริยะเช่นนี้ด้วย ประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ด้วย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะเช่นนี้ด้วยแล้ว, ได้ เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง); ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌา ในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา ; ละพยาบาท อันเป็นเครื่องประทุษร้ายมีจิตปราศจากพยาบาท; ละถีนะมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ; ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ; ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า 'นี่อะไร นี่อย่างไร' ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา แล้ว.
"ข้าพเจ้านั้น ครั้นละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ได้แล้ว ก็สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุ ฌานที่ 2 เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่; เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสิตสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายบรรลุ ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าว่า 'ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข' ดังนี้ แล้วแลอยู่; และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุ ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ แล้ว.
"ข้าพเจ้านั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโดยควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหวตั้งอยุ่เช่นนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ แล้ว : ข้าพเจ้าได้รู้ขัดแล้วตามที่เป็นจริงว่า 'นี้ ทุกข์, นี้ เหตุให้เกิดทุกข์, นี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์; ได้รู้ชัดแล้วตามเป็นจริงว่า 'เหล่านี้ อาสวะ, นี้ เหตุให้เกิดอาสวะ, นี้ ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ' ดังนี้. เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้' จิตก็หลุดพ้นแล้วแม้จากกามสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ. เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว. ข้าพเจ้าได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้มิได้มีอีก ; ดังนี้. อาวุโส! เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ ความเคยชินแห่งการถือตัวว่าเป็นเราว่าเป็นของเรา (อหงฺการมมงฺการมานานุสย) ในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหลายทั้งปวงในภายนอก จึงถูกถอนขึ้นด้วยดี" ดังนี้. ภิกษุ ท.! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ.
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาว่า สาธุ ดังนี้แล้ว พึงกล่าวแก่ภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า "อาวุโส ! เป็นลาภของพวกเราหนอ ! อาวุโส ! พวกเราได้ดีแล้วหนอ! ที่พวกเราได้พบเห็นพหรมจารีเช่นกับท่าน" ดังนี้.
- อุปริ. ม. 14/123–132/167-177.