ไปยังหน้า : |
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่น ยังมีอยู่หรือ ที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของท่านดำเนินไปตรง ท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งทุกข์ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์. ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์. แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์, แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์, แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์, การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์, ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ ; กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นทุกข์. ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้ เรียกว่า ทุกข์.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? ตัณหานี้ใด อันเป็นเครื่องทำให้มีภพใหม่ อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ, ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้ เรียกว่า เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? ความจางคลายดับไปไม่เหลือแห่งตัณหานี้นั่นเอง เป็นความสละทิ้ง เป็นความสลัดคืน เป็นความปล่อย เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น อันใด ; ท่านผู้มีอายุ ท. ! อันนี้ เรียกว่า ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? มรรคอันประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐ นี้นั่นเอง, ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้ เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งทุกข์ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่า เรามีเราเป็น ได้โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐธรรมนี้ นั่นเทียว. ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้เพียงเท่านี้แล อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”