ไปยังหน้า : |
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ (ในปฏิปทาอันเป็นที่สบายแก่เนวสัญญานาสัญญายตนะ) อย่างนั้นแล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งอุเบกขาว่า 'ถ้าไม่ควรมี และไม่พึงมีแก่เรา, ก็ต้องไม่มีแก่เรา; สิ่งใดมีอยู่ สิ่งใดมีแล้ว เราจะละสิ่งนั้นเสีย' ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุนั้นควรจะปรินิพพานหรือ? หรือว่าไม่ควรจะปรินิพพานเล่า? พระเจ้าข้า !.
อานนท์ ! ภิกษุในกรณีเช่นที่กล่าวนี้ บางรูปจะปรินิพพาน, แต่บางรูปจะไม่ปรินิพพาน.
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ภิกษุในกรณีเช่นที่กล่าวนี้ บางรูปจะปรินิพพาน แต่บางรูปจะไม่ปรินิพพาน เล่า ? พระเจ้าข้า !"
อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ (ในปฏิปทาอันเป็นที่สบายแก่เนวสัญญานาสัญญายตนะ) อย่างนั้นแล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งอุเบกขาว่า "ถ้าไม่ควรมี และไม่พึงมีแก่เรา, ก็ต้องไม่มีแก่เรา; สิ่งใดมีอยู่, สิ่งใดมีแล้ว เราจะละสิ่งนั้นเสีย" ดังนี้; ภิกษุุ (บางรูป) นั้นย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งอุเบกขานั้น. เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งอุเบกขานั้น, วิญญาณ ของเธอ ก็เป็นธรรมชาติอาศัยอยู่ซึ่งอุเบกขานั้น มีอุเบกขานั้นเป็นอุปาทาน. อานนท์! ภิกษุผู้ยังมีอุปาทานอยู่ จะปรินิพพานไม่ได้ แล.
- อุปริ. ม. 14/78/89-90.