อาการที่ตัณหาไม่นำไปสู่ภพใหม่ ให้เกิดผลพิเศษอีกนานาประการ

ภิกษุ ท.! ....ส่วนบุคคล เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่ง จักษุ ตามที่เป็นจริง. เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่ง รูปทั้งหลาย ตามที่เป็นจิรง, เมื่อรู้เมื่อเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ตามที่เป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่ง จักขุสัมผัส ตามที่เป็นจิรง, เมื่อรู้เมื่อเห็นซึ่งเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ตามที่เป็นจริงแล้ว; เขาย่อมไม่กำหนัดในจักษุ, ไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย, ไม่กำหนัดในจักขุวิญญาณ, ไม่กำหนัดในจักขุสัมผัส, และไม่กำหนัดในเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม. เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ลุ่มหลงแล้ว ตามเห็นอาทีนวะ (โทษของสิ่งเหล่านั้น) อยู่เนือง ๆ, ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความไม่ก่อเกิดต่อไป; และตัณหา อันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ นั้นอันเขาย่อมละเสียได้ ; ความกระวนกระวาย (ทรถ) แม้ ทางกาย อันเขาย่อมละเสียได้, ความกระวนกระวาย แม้ ทางจิต อันเขาย่อมละเสียได้; ความแผดเผา (สนฺตาป) แม้ทางกายอันเขาย่อมละเสียได้, ความแผดเผา แม้ทางจิต อันเขาย่อมละเสียได้; ความเร่าร้อน (ปริฬาห) แม้ทางกาย อันเขาย่อมละเสียได้, ความเร่าร้อน แม้ทางจิต อันเขาย่อมละเสียได้. บุคคลนั้นย่อม เสวยซึ่งความสุข อันเป็นไป ทางกาย ด้วย. ซึ่งความสุขอันเป็นไป ทางจิต ด้วย.

เมื่อบุคคลเป็นเช่นนั้นแล้ว ทิฏฐิของเขา ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ ; ความดำริของเขา ยอ่มเป็นสัมมาสังกัปปะ; ความพยายาม ของเขา ย่อมเป็นสัมมาวายามะ ; สติของเขา ย่อมเป็นสัมมาสติ; สมาธิของเขา ย่อมเป็นสัมมาสมาธิ; ส่วนกายกรรม วจีกรรม และ อาชีวะของเขา เป็นธรรมบริสุทธิ์อยู่ก่อนแล้วนั่นเทียว. ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้ ของเขานั้น ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ.

เมื่อเขาทำอริยอัฏฐังคิกมรรค ให้เจริญอยู่ด้วยอาการอย่างนี้, สติปัฏฐาน แม้ทั้ง 4 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; สัมมัปปธาน แม้ทั้ง 4 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; อิทธิบาท แม้ทั้ง 4 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; อินทรีย์ แม้ทั้ง 5 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; พละ แม้ทั้ง 5 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; โพชฌงค์ แม้ทั้ง 7 ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ. ธรรมทั้งสองคือ สมถะ และวิปัสสนา ของเขานั้น ย่อมเป็นธรรมเคียงคู่กันไป. บุคคลนั้น ย่อม กำหนดรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ; ย่อม ละ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึงละด้วยปัญญาอันยิ่ง ; ย่อม ทำให้เจริญ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง; ย่อม ทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันบุคคลพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท.! ก็ ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็นธรรมอันบุคคลพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบ พึงมีว่า ปัญจุปาทานขันธ์ ทั้งหลาย กล่าวคือ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ : ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล ชื่อว่า เป็นธรรมอันบุคคลพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญอันยิ่ง.

ภิกษุ ท.: ก็ ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็นธรรมอันบุคคลพึงละด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบ พึงมีว่า อวิชชา ด้วย ภวตัณหา ด้วย : ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นธรรมอันบุคคลพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท.: ก็ ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็นธรรมอันบุคคลพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบ พึงมีว่า สมถะ ด้วย วิปัสสนา ด้วย : ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นธรรมอันบุคคลพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท.! ก็ ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็นธรรมอันบุคคลพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบพึงมีว่า วิชชาด้วย วิมุตติด้วย : ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นธรรมอันบุคคลพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง.

(ในกรณีที่เกี่ยวกับ โสต ฆาน ชิวหา กาย มโน และ สหคตธรรมแห่งอายตนะที่โสต เป็นต้น ก็มีเนื้อความเหมือนกับที่กล่าวแล้วในกรณีแห่ง จักษุและสหคตธรรมของจักษุ ดังที่กล่าวข้างบนนี้ทุกประการ พึงขยายความเอาเองให้เต็มตามนั้น).

- อุปริ. ม. 14/523-526/828-831.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง