การเป็นพระอริยเจ้าไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย

ภิกษุ ท.! เพราะอาศัยตาด้วย จึงเกิดความรู้แจ้งทางตาขึ้น, การประจวบพร้อม (แห่งตา+รูป+วิญญาณ) ทั้ง 3 อย่างนั้น ย่อมเกิดมีผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา อันเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

ภิกษุ ท.! บุคคลนั้น เมื่อถูกสุขเวทนากระทบแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำเพ้อถึง ไม่เมาหมกติดอกติดใจ, อนุสัยคือราคะ ย่อมไม่ตามนอน ในสันดานของบุคคลนั้น.

ภิกษุ ท.! บุคคลนั้น เมื่อถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว ย่อมไม่โศกเศร้า ไม่ระทมใจ ไม่คร่ำครวญ ตีอกร่ำไห้ ไม่ถึงความลืมหลง, อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมไม่ตามนอน ในสันดานของบุคคลนั้น.

ภิกษุ ท.! บุคคลนั้น เมื่อถูกเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุขกระทบแล้ว ย่อมรู้ชัดแจ้งตรงตามที่เป็นจริง ซึ่งความก่อขึ้นของเวทนานั้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ของเวทนานั้น ซึ่งรสอร่อยของเวทนานั้น ซึ่งโทษของเวทนานั้น ซึ่งอุบายเครื่องออกพ้นไปได้จากเวทนานั้น, อนุสัยคืออวิชชา ย่อมไม่ตามนอน ในสันดานของบุคคลนั้น.

(ในกรณีที่เกี่ยวกับ อายตนะภายใน และภายนอกคู่อื่น อันได้ประจวบกัน เกิด วิญญาณ ผัสสะ และเวทนา เป็น อีก 5 หมวด นั้น ก็มีข้อความอย่างเดียวกันกับหมวดแรกนี้ผิดกันแต่ชื่อเรียกเท่านั้น).

ภิกษุ ท.! บุคคลนั้นหนอ ละอนุสัยคือราคะ ในสุขเวทนาได้แล้ว, บรรเทาอนุสัยคือปฏิฆะ ในทุกขเวทนาเสียแล้ว, ถอนขึ้นได้กระทั่งราก ซึ่งอนุสัยคืออวิชา ในเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุขเสียได้แล้ว, ท่านละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้ว, จักเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในปัจจุบันนี้โดยแท้ ; ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล.

- อุปริ. ม. 14/518/823.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง