ไปยังหน้า : |
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. อุทายิ! เรากล่าวปฐมฌานนี้แล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งปฐมฌานนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงซึ่งปฐมฌานนั้น. อุทายิ! เรากล่าวแม้ทุติยฌานนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งทุติยฌานนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสิตและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า "เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปรกติสุข" ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงซึ่งทุติยฌานนั้น. อุทายิ! เรากล่าวแม้ตติยฌานนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจะละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็ อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงซึ่งตติยฌานนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับแห่งโสมนัสและโทมนัสสองในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งตติยฌานนั้น. อุทายิ! เรากล่าวแม้จตุตถฌานนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร(จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็ อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงซึ่งจตุตถฌานนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญาทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาทั้งหลาย เป็นผู้เข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงซึ่งจตุถฌานนั้น. อุทายิ ! เรากล่าวแม้อากาสานัญจายตนะนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าว่าจงก้าวล่วงเสีย ก็ อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะนั้นฯ
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะด้วยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "วิญญาณไม่มีที่สุด" ดังนี้ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะนั้น. อุทายิ! เรากล่าวแม้วิญญาณัญจายตนะนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร(จะพอใจ เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย ก็ อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัยจายตนะโดยประการทั้งปวงเป็นผู้เข้าถึง อากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อะไร ๆ ไม่มี" ดังนี้ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะนั้น. อุทายิ ! เรากล่าวแม้อากิญจัญญายตนะนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็ อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะนั้น. อุทายิ! เรากล่าวแม้เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นแล ว่าสิ่งไม่ควร (จะพอใจ) เรากล่าวว่าจงละเสีย เรากล่าวว่าจงก้าวล่วงเสีย. ก็อะไรเล่า เป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ?
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. นี้แหละเป็นการก้าวล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น.
อุทายิ ! ด้วยอาการอย่างนี้แล เรากล่าวการละแม้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ. อุทายิ ! เธอเห็นบ้างไหม ซึ่งสังโยชน์น้อยใหญ่นั้น ที่เราไม่กล่าวว่าต้องละ ?
"ข้อนั้น ไม่มีเลย พระเจ้าข้า!"
- ม. ม. 13/189-192/182-185.