ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ (อีกปริยายหนึ่ง : ระดับสูงสุด)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คำที่กล่าวกันว่า ‘สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ’ ดังนี้ ; สัมมาทิฏฐิ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า ?”

กัจจานะ ! สัตว์โลกนี้ อาศัยแล้วซึ่งส่วนสุดทั้งสอง โดยมาก คือ ส่วนสุดว่าสิ่งทั้งปวงมี (อตฺถิตา) และ ส่วนสุดว่าสิ่งทั้งปวงไม่มี (นตฺถิตา).

กัจจานะ ! เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นแดนเกิดขึ้นแห่งโลก (โลกสมุทย) อยู่, ทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีในโลก ย่อมไม่มี.

กัจจานะ ! เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งโลก (โลกนิโรธ) อยู่, ทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีในโลก ย่อมไม่มี.

กัจจานะ ! สัตว์โลกนี้ โดยมาก มีอุปายะ อุปาทานะ และอภินิเวส เป็นเครื่องผูกพัน14.2 ; ส่วน สัมมาทิฏฐินี้ ย่อมไม่เข้าไปหา ย่อมไม่ยึดมั่น ย่อมไม่ตั้งทับ ซึ่งอุปายะและอุปาทานทั้งสองนั้น ในฐานะเป็นที่ตั้งทับเป็นที่ตามนอนแห่งอภินิเวส ของจิต ว่า “อัตตาของเรา” ดังนี้. “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดย่อมเกิด ทุกข์นั่นแหละ เมื่อดับย่อมดับ” ดังนี้ เป็นสัจจะที่ผู้มีสัมมาทิฏฐิไม่สงสัย ไม่ลังเล. ญาณดังนี้นั้น ย่อมมีแก่เขา ในกรณีนี้ โดยไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัยเพื่อความเชื่อ.

กัจจานะ ! สัมมาทิฏฐิ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.

(สัมมาทิฏฐิชนิดนี้ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับโลกุตตระ คือเป็นไปเพื่อโลกุตตระ ไม่เป็นไปเพื่ออาสวะ ไม่มีส่วนแห่งบุญ ไม่ค่อยผ่านสายตา ไม่ค่อยผ่านหูของผู้ศึกษาทั่ว ๆ ไป).

- นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐ - ๒๑/๔๒ - ๔๓.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง