อัฏฐังคิกมรรค ในฐานะแห่งธัมมยานอันประเสริฐ

(พระอานนท์ได้เห็นชาณุสโสณีพราหมณ์ นั่งรถขาวเทียมด้วยม้าขาว เครื่องประดับประดาทุกส่วนขาว ถือพัดวาลวีชนีขาว จนกระทั่งประชาชนเห็นแล้วร้องว่า พรหมยาน ว่า ลักษณะแห่งพรหมยาน, ดังนี้แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามว่า :-)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาค อาจจะบัญญัติพรหมยานขึ้น ในธรรมวินัยนี้ ได้หรือไม่หนอ ?”

อาจซิ อานนท์ ! คำว่า พรหมยาน นั้น เป็นอธิวจนะ (คำแทนชื่อ) แห่งอริยอัฏฐังคิกมรรคนี้เอง ; เรียกว่า พรหมยาน บ้าง ธรรมยาน บ้าง อนุตตรสังคามวิชัย บ้าง.

อานนท์ ! สัมมาทิฏฐิ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการนำออกซึ่งราคะเป็นปริโยสาน มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นปริโยสาน มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นปริโยสาน.

สัมมาสังกัปปะ …. สัมมาวาจา …. สัมมากัมมันตะ …. สัมมาอาชีวะ …. สัมมาวายามะ …. สัมมาสติ …. สัมมาสมาธิ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นธรรมมีการนำออกซึ่งราคะเป็นปริโยสาน มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นปริโยสาน มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นปริโยสาน.

อานนท์ ! พึงทราบโดยปริยายนี้แล ว่าคำว่า พรหมยาน นั้น เป็นอธิวจนะแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรคนี้เอง ; เรียกว่า พรหมยาน บ้าง ธรรมยาน บ้าง อนุตตรสังคามวิชัย บ้าง.

- มหาวาร. สํ. 19/6 - 7/13 - 23.

(ผู้ศึกษาพึงทราบว่า คำว่า พรหมยาน เป็นคำสูงสุดในฝ่ายศาสนาพราหมณ์ พระอานนท์อยากจะมีคำเช่นนั้นในพระพุทธศาสนานี้บ้าง จึงทูลถาม ; แต่พระองค์ตรัสตอบอย่างธัมมาธิษฐาน ระบุเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นพรหมยาน, และแถมยังมีคำว่า ธรรมยาน และอนุตตรสังคามวิชัย อีกด้วย. เราเห็นว่า คำว่า ธรรมยาน สำคัญกว่า จึงยกเอามาเป็นชื่อแห่งหัวข้อนี้.

อนึ่ง อัฏฐังคิกมรรคนี้ จำแนกความหมายได้หลายอย่าง เช่นจำแนกเป็น วิเวกนิสฺสิตํ วิราคนิสฺสิตํ นิโรธนิสฺสิตํ โวสฺสคฺคปริณามี ดังในหัวข้อ ที่จัด อัฏฐังคิกมรรคเป็นกัลยาณมิตร เป็นต้น บ้าง, และในหัวข้อนี้ทรงจำแนกเป็น ราค - โทส - โมหวินยปริโยสาน บ้าง, ในหัวข้อว่า “อัฏฐังคิกมรรคชนิดที่เจริญแล้ว ทำกิจแห่งอริยสัจสี่พร้อมกันไปในตัว” เป็นต้น ซึ่งได้กล่าวไว้ในหมายเหตุท้ายหัวข้อนั้น ๆ ที่หน้า 1419, 1421, 1458 แห่งหนังสือนี้ ทรงจำแนกว่า อมโตคธ อมตปรายน อมตปริโยสาน บ้าง, นิพฺพานนินฺน นิพฺพานโปณ นิพฺพานปพฺภาร บ้าง).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง