ไปยังหน้า : |
ครั้นพวกเธอยินดีอนุโมทนาดังนั้นแล้ว พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า "อาวุโส ! อายตนะภายในและภายนอก อย่างละหกเหล่านี้ มีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ผู้เห็นผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้แล้วโดยชอบ คือ จักษุและรูป 1 โสตะและเสียง 1 ฆานะและกลิ่น 1 ชิวหาและรส 1 กายและโผฏฐัพพ 1 มโนและธรรมารมณ์ 1. ก็ท่านผู้มีอายุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จิตของท่านจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก อย่างละหกเหล่านี้ ?" ดังนี้.
ภิกษุ ท.! ถ้าภิกษุนั้นเป็นขีณาสพ มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว มีภาระปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันตามลุถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบจริง, ธรรมที่ภิกษุนั้นสมควรพยากรณ์ ย่อมมีอย่างนี้ว่า "อาวุโส ! ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า 'ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ความเคยชิน (อนุสัย) แห่งการตั้งทับและการฝังตัวเข้าไปแห่งจิตเพราะความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ใด ๆ ใน จักษุ ใน รูป ใน จักขุวิญญาณ ใน ธรรม ท. อันรู้ได้วยจักขุวิญญาณ. มีอยู่ เพราะความสิ้นไป เพราะความจางคลาย ความดับ ความละทิ้ง ความสลัดคืน ซึ่งฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหาความเคยชิน (อนุสัย) แห่งการตั้งทับและการฝังตัวเข้าไปแห่งจิตเพราะความยึดมั่นด้วยอุปาทาน นั้น ๆ แล้ว จิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้นแล้ว' ดังนี้. (ในกรณีแห่ง โสตะและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายะและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์ ก็มีข้อความโต้ตอบอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุและโสตะนี้ จนกระทั่งถึงคำว่า .... จิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้นแล้ว' ดังนี้.). อาวุโส' เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของข้าพเจ้าจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก อย่างละหกเหล่านี้." ภิกษุ ท.! พวกเธอพึงยินดีอนุโมทนาในคำกล่าวของภิกษุนั้นว่า สาธุ.