ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่งจักษุตามที่เป็นจริง ;
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง รูป ท. ตามที่เป็นจริง ;
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง จักขุวิญญาณ ตามที่เป็นจริง ;
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง จักขุสัมผัส ตามที่เป็นจริง ;
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง เวทนา อันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม อทุกขมสุขก็ตาม, ตามที่เป็นจริง ; บุคคล ย่อมไม่กำหนัดยินดีในจักษุ ย่อมไม่กำหนัดยินดีในรูป ท. ย่อมไม่กำหนัดยินดีในจักขุวิญญาณ ย่อมไม่กำหนัดยินดีในจักขุสัมผัส ย่อมไม่กำหนัดยินดีในเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม อทุกขมสุขก็ตาม.
เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดยินดีแล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่หลงใหลแล้ว มีปกติเห็นโทษ อยู่ ; ปัญจุปาทานขันธ์ ย่อมถึงซึ่งความไม่ก่อขึ้นอีกต่อไป และ ตัณหา อันเป็นเครื่องนำมาซึ่งภพใหม่ ประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วย อำนาจแห่งความเพลิน ทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ของบุคคลนั้น ย่อมละไป. ความกระวนกระวาย ทางกายและทางจิต ก็ละไป ; ความแผดเผา ทางกายและทางจิต ก็ละไป ; ความเร่าร้อน ทางกายและทางจิต ก็ละไป. บุคคลนั้นย่อมเสวยความสุขทั้งทางกายและทางจิต.
ทิฏฐิของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ, ความดำริของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสังกัปปะ, ความเพียรของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาวายามะ, สติของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสติ, สมาธิของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสมาธิ. ส่วน กายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา บริสุทธิ์ดีแล้วมาแต่เดิม ; (ดังนั้นเป็นอันว่า สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ ในบุคคลของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น). ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า อริยอัฏฐังคิกมรรคแห่งบุคคลผู้รู้ผู้เห็นอยู่อย่างนั้น ย่อมถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ด้วยอาการอย่างนี้.
- อุปริ. ม. 14/523 - 525/828 - 830.
(ผู้ยึดการปฏิบัติอริยอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลัก พึงมองให้เห็นความสำคัญที่สุดแห่งพระบาลีนี้ ที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าปฏิบัติในชั้นลึกคือการรู้เห็นอย่างถูกต้องเกี่ยวกับอายตนะอันเป็นที่ตั้งแห่งตัณหาอุปาทานแล้ว ย่อมเป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติอัฏฐังคิกมรรคอย่างครบถ้วนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ไม่เสียเวลามากเหมือนผู้ปฏิบัติชนิดแจกแจงเป็นองค์ ๆ และองค์ละหลาย ๆ อย่าง ซึ่งโดยมากปฏิบัติจนตายหรือเกือบตายก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จึงขอเน้นความสำคัญอย่างยิ่งแห่งพระบาลีนี้ แก่ผู้ปฏิบัติทุกคน.
ข้อความที่ยกมานี้ ยกมาแต่ข้อความที่แสดงด้วยเรื่องของจักษุ ผู้ศึกษาพึงเทียบเคียงเอาเองออกไปถึงเรื่องของ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมโน. แต่ละอย่าง ๆ แยกออกเป็นห้าประเด็น เหมือนอย่างที่แสดงไว้ในกรณีแห่งจักษุข้างต้นนั้น, ก็จะได้อายตนิกธรรม 6 หมวด ๆ ละ 5 อย่าง ; รวมเป็น 30 อย่าง โดยบริบูรณ์)