ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! สมาธิภาวนา 4 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 4 อย่าง อย่างไรเล่า? 4 อย่างคือ ภิกษุ ท.! มีสมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม (ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาร). ภิกษุ ท.! มีสมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ (ญาฌทสฺสนปฏิลาภ). ภิกษุ ท.! มีสมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ (สติสมฺปชญฺญ). ภิกษุ ท.! มีสมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ (อาสวกฺขย).
ภิกษุ ท.! ภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม; นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งภายใจ ในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปขัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข “ ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่; เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในการก่อนเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท.! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.
ภิกษุ ท.! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ; นั้นเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุ ในกรณีนี้ กระทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น, กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น, เธอมีจิตอันเปิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่างทั่วพร้อมให้เจริญอยู่. ภิกษุ ท.! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ซึ่งญาณทัสสนะ.
ภิกษุ ท.! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ; นั้นเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ เวทนาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ; สัญญาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ; วิตกเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ. ภิกษุ ท.! นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.
ภิกษุ ท.! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งะอาสวะ ; นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ มีปกติตามเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ว่า “ รูป เป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูป เป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูป เป็นอย่างนี้ ; เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้; สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้; สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารเป็นอย่างนี้; วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ” ดังนี้. ภิกษุ ท.! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ.
ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล คือสมาธิภาวนา 4 อย่าง.
- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๗/๔๑.