อธิสิกขา 3 (อีกนัยหนึ่ง)

ภิกษุ ท. ! สิกขา 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่าง อย่างไรเล่า ? 3 อย่างคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา.

ภิกษุ ท. ! อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสำรวมในปาติโมกข์ …. ฯลฯ …. สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า อธิสีลสิกขา.

ภิกษุ ท. ! อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน …. ทุติยฌาน …. ตติยฌาน …. จตุตถฌาน แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า อธิจิตตสิกขา.

ภิกษุ ท. ! อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า อธิปัญญาสิกขา.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล สิกขา 3 อย่าง.

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

พึงเป็นผู้มีความเพียร มีกำลัง มีความตั้งมั่น มีความเพ่ง มีสติ สำรวมอินทรีย์ ประพฤติอธิศีลอธิจิตและอธิปัญญาเถิด พึงแผ่จิตครอบงำทิศทั้งปวง ด้วยสมาธิอันหาประมาณมิได้ เช่นเดียวกันทั้งข้างหน้าข้างหลัง ทั้งข้างหลังข้างหน้า เช่นเดียวกันทั้งเบื้องต่ำเบื้องสูง ทั้งเบื้องสูงเบื้องต่ำ เช่นเดียวกันทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งกลางคืนกลางวัน. นั่นท่านกล่าวกันว่าเป็นเสขปฏิปทา หรือการประพฤติธรรมหมดจดด้วยดี. นั่นท่านกล่าวกันว่าเป็นผู้รู้พร้อมในโลก มีปัญญา ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ.

วิโมกข์แห่งจิต ย่อมมีแก่บุคคลนั้นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา เพราะความดับสนิทแห่งวิญญาณ เหมือนความดับสนิทแห่งไฟ ฉะนั้น.

- ติก. อํ. 20/303/530.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง