ไปยังหน้า : |
“ท่านอานนท์ผู้เจริญ ! อริยสีลขันธ์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ที่พระสมณโคดมทรงสรรเสริญ และทรงชักชวนมหาชนนี้ ให้สมาทาน ให้เข้าไปอยู่ ให้ตั้งไว้เฉพาะ ?”
มาณพ ! ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรมออกสอนสัตว์. ตถาคตนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม. ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
คหบดีหรือบุตรคหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่งในภายหลังก็ดี ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต. เขาผู้ประกอบด้วยศรัทธาย่อมพิจารณาเห็น ว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, บรรพขาเป็นโอกาส (คือที่โปร่งโล่ง) อันยิ่ง ; การที่คนอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย. ถ้ากระไรเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”, ดังนี้.
โดยสมัยอื่นต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่ และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว.
กุลบุตรนั้น ครั้นบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยการสำรวมในปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมอันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล ….
มาณพ ! ภิกษุ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ? มาณพ ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่ …. ฯลฯ …. (ข้อความต่อไปนี้ ดูได้ที่ภาคผนวกแห่งหนังสือเล่มนี้ ที่หน้า 1541 ตั้งแต่ คำว่า เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน…. ไปจนถึงคำว่า …. (จบอริยสีลขันธ์) …. ที่หน้า 1551 ).