เห็นแก่เหยื่อจึงติดเบ็ด

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนพรานเบ็ด ซัดเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อลงไปในห้วงน้ำลึก. ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่ง จะพึงกลืนเบ็ดนั้นเข้าไป. ภิกษุ ท.! ด้วยอาการนี้แหละ ปลาที่กลืนเบ็ดตัวนั้น ถึงแล้วซึ่งความพินาศ ถึงแล้ว ซึ่งความฉิบหาย เพราะพรานเบ็ด แล้วแต่พรานเบ็ดนั้นใคร่จะทำตามอำเภอใจอย่างใด.

ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น, เบ็ดหกตัวเหล่านี้ มีอยู่ในโลก เพื่อความฉิบหายของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อฆ่าสัตว์ทั้งหลาย. เบ็ดหกตัวนั้น เป็นอย่างไรเล่า? เบ็ดหกตัวนั้น คือ รูป ที่เห็นด้วยตาก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วยหูก็ดี, กลิ่นที่ดมด้วยจมูกก็ดี, รส ที่ลิ้นด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกายก็ดี, และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจก็ดี, มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ, ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พรำ่สรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นไซร้;

ภิกษุ ท.! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนเบ็ดของมาร ถึงแล้วซึ่งความพินาศ ถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย แล้วแต่มารผู้มีบาปใคร่จะทำประการใด แล.

- สฬา. สํ. 18/197/289.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง