ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ก็สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ได้ ?
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ตาม เห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำก็ดี ; เป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำก็ดี ; มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ; สมัยนั้น สติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง. ภิกษุ ท. ! สมัยใด สติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ ; ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ชื่อว่าย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.
(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการตามเห็นกาย ตามเห็นเวทนา ตามเห็นจิต ตามเห็นธรรมอยู่ โดยนัยแห่งจตุกกะทั้ง 4 แล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดสติในสิ่งเหล่านั้นอยู่ สติที่เป็นการกำหนดนั้นเอง ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ในที่นี้. สรุปความสั้น ๆ ว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 อยู่ ก็ย่อมมีสติสัมโพชฌงค์หรือเป็นสติสัมโพชฌงค์อยู่ในตัว. ถ้าการเจริญอานาปานสติถึงที่สุด การเจริญสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าถึงที่สุดด้วย นี่อย่างหนึ่ง ; อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์อยู่ด้วยอาการเช่นนั้น ย่อมชื่อว่า มีการเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ดังจะเห็นได้ชัดในการพิจารณาองค์ฌานขั้นปีติและสุขเป็นต้น หรือพิจารณาในฐานะที่เป็นเวทนาก็ตาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ดี โดยที่เวทนานั้น มีเหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่งก็ดี หรือโดยที่เวทนานั้นปรุงแต่งสิ่งอื่นสืบไปก็ดี หรือแม้ที่สุดแต่การสโมธานมาซึ่งธรรม การรู้โคจรแห่งธรรมนั้นๆ และการแทงตลอดสมัตถะแห่งธรรมนั้น ๆ ก็ดี มีรายละเอียดดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติ ชั้นที่ 5 ; (ดูหนังสืออานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ที่หน้า 240 ไป) นั่นแหละ คือการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว ในการเจริญอานาปานสติ หรือในขณะที่เรียกว่ามีสติสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้ว. สรุปความว่า เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์โดยอาการของอานาปานสติ ก็ย่อมมีการใคร่ครวญธรรม เพราะสติที่สมบูรณ์ย่อมทำการกำหนดในเบื้องต้น แล้วทำการพิจารณาในฐานะเป็นอนุปัสสนาญาณในลำดับถัดมา อย่างที่เรียกว่าเนื่องกันไปในตัว. การกำหนดชื่อว่าสติ การพิจารณาชื่อว่าการเลือกเฟ้นใคร่ครวญในที่นี้. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญอยู่ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา” ดังที่กล่าวแล้ว).
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ก็ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว.
(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 อยู่ โดยลักษณะที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ และธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ย่อมเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างขยันขันแข็ง ด้วยความบากบั่นเต็มที่เพียงไร. ข้อนี้ย่อมคำนวณดูได้จากความเพียรที่ใช้ไปในการเจริญอานาปานสติทั้ง 16 วัตถุ ดังที่วินิจฉัยกันมาแล้วข้างต้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว” ดังนี้.)
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุผู้เลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญา ได้ปรารภแล้ว ; สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นก็เต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้วเช่นนั้น ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น.
(ข้อนี้อธิบายว่า ในการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 ที่เป็นไปด้วยดีนั้น ย่อมมี สติ - ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์อยู่ในตัว โดยนัยดังที่กล่าวแล้ว จากวิริยสัมโพชฌงค์นั่นเอง ปีติย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจธรรมฉันทะ ธรรมนันทิ กล่าวคือความพอใจในการกระทำของตน หรือในการประสบความสำเร็จแห่งการปฏิบัติธรรมขั้นหนึ่ง ๆ โดยอาการดังที่กล่าวในตอนที่ว่าด้วยการเกิดของปีติ ในอานาปานสติ ขั้นที่ 5 เป็นต้น. (ดูหนังสืออานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส ที่หน้า 240 ไป) ปีติในที่นี้ชื่อว่าเป็นนิรามิส หมายความว่าไม่เจือด้วยอามิสกล่าวคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่เป็นปีติที่ประกอบด้วยเนกขัมมะ คือการเว้นจากกามโดยสิ้นเชิง และเป็นปีติอาศัยธรรม หรือความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น ดังนี้.)
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียร อันปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้นเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ.
(ข้อนี้อธิบายว่า การเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 เป็นโพชฌงค์อยู่ในตัว เป็นลำดับ มาตั้งแต่สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ และปีติสัมโพชฌงค์. โดยนัยดังที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจของปีตินั่นเอง ย่อมเกิดความสงบรำงับ ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติ ขั้นที่ 4 โดยนัยว่าปีติเกิดขึ้น ลมหายใจยิ่งละเอียดลง ซึ่งหมายถึงอาการแห่งการรำงับ โดยลักษณะแห่งสมถะนี้อย่างหนึ่ง และเมื่อมีการพิจารณาธรรม จนความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาปรากฏขึ้นแล้วปีติเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น ทำลมหายใจให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอาการแห่งความรำงับนั่นเอง แต่เป็นความรำงับตามนัยแห่งวิปัสสนา. เมื่อรวมเข้าด้วยกัน ทั้งความรำงับโดยนัยแห่งสมถะและความรำงับโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมชื่อว่าความรำงับถึงที่สุด และเป็นความรำงับที่เกิดมาจากปีติโดยตรง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ” ดังนี้.)
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ ; สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ.
(ข้อนี้อธิบายว่า ในการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 ย่อมประกอบอยู่ด้วยความเป็นสัมโพชฌงค์ต่าง ๆ โดยนัยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จนกระทั่งถึงปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ กล่าวคือ ความรำงับทั้งกายและจิต สิ่งที่เรียกว่าความสุขมีรวมอยู่ด้วย ในความรำงับนั้น ไม่จำเป็นจะต้องแยกออกมาเป็นโพชฌงค์อีกต่างหาก. เมื่อกายรำงับ ก็สุขกาย เมื่อใจรำงับ ก็สุขใจ ฉะนั้น ความสุขจึงถูกนับรวมอยู่ด้วย ในความรำงับ ; ครั้นมีความรำงับแล้ว จิตย่อมมีความตั้งมั่น ซึ่งเรียกว่าสมาธิ. ความรำงับที่เป็นองค์ฌาน หมายถึงปีติและสุข ทำให้จิตตั้งมั่นอย่างสมถะ, ความรำงับที่เกิดมาจากความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมทำให้จิตตั้งมั่น โดยนัยแห่ง วิปัสสนา ; เมื่อรวมกันทั้งความตั้งมั่น โดยนัยแห่งสมถะ และโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมเป็นความตั้งมั่นที่สมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่าความตั้งมั่นในที่นี้. อานาปานสติขั้นที่หนึ่งถึงที่สี่ มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะ อานาปานสติขั้นที่ 5 ขึ้นไป (ดูหนังสือ อานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส ที่หน้า 240 ไป) มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนา เพราะทุกขั้นทำให้เกิดความรำงับ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น” ดังนี้).
ภิกษุ ท. ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ ย่อมเป็นจิตตั้งมั่น ; สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี.
(ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ 16 ย่อมทำให้เกิดสัมโพชฌงค์ต่าง ๆ กระทั่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือความที่จิตตั้งมั่นทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา. ความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะเป็นความสงบรำงับ ทำให้มีกำลังหนุนเนื่องอยู่ตลอดไป ; ส่วนความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนา นั้นเป็นความตั้งมั่นในการเห็นธรรม ทำให้กิเลสรำงบลง ด้วยอำนาจความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ซึ่งมีความตั้งมั่นด้วยดีเหมือนกัน. การเพ่งต่อความตั้งมั่นทั้ง 2 อย่างนี้ มีขึ้นต่อเมื่อมีความตั้งมั่นแล้วจริง ๆ แล้วคุมความตั้งมั่นให้แน่วแน่อยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะมีการบรรลุธรรมในเบื้องสูง. การคุมความตั้งมั่นไว้นั่นเอง เรียกว่า การเข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้ว โดยอุปมาที่ได้กล่าวแล้วหลายครั้งหลายหนว่าเหมือนนายสารถีที่เพียงแต่คุมบังเหียนเฉยอยู่ ในเมื่อม้าและรถ และสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ 5 และอานาปานสติขั้นที่ 11 และขั้นอื่น ๆ อีกโดยปริยาย, (ดูหนังสือ อานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส หน้า 240 ไป และหน้า 340 ไป). เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วโดยนัยทั้ง 2 คือทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่แต่เพียงคุมความตั้งมั่นนั้น ให้เป็นไปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการเผาลนกิเลสอยู่ในตัวเรื่อยไป จนกว่าจะสิ้นสุด. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี” ดังนี้).
ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี ; สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอันว่า ภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ; สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.
(ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ 16 สมบูรณ์แล้ว เมื่อมีการเข้าไปเพ่งซึ่งจิตอันเป็นขึ้นมาแล้ว ในร่องรอยแห่งสมถะและวิปัสสนา แล้วควบคุมความเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เราเรียกว่าความเพ่งในที่นี้ หรือเรียกโดยบาลีว่า อุเบกขา ซึ่งแปลว่า เข้าไปเพ่ง หรือเข้าไปดูอยู่ตลอดเวลา ที่ความตั้งมั่นนั้นเผาลนกิเลส และขณะที่กิเลสสูญสิ้นไปแล้ว ในที่สุดก็เพ่งความที่กิเลสสิ้นไปนั้นเอง เป็นอารมณ์ของสติ ซึ่งมีในอานาปานสติจตุกกะที่ 4 ขั้นท้าย ๆ คือขั้นที่ 14-15-16 อันเป็นขั้นที่สัมโพชฌงค์ทั้งหลาย ได้เป็นไปสมบูรณ์ถึงที่สุดจริง ๆ, (ดูหนังสือ อานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส หน้า 392 - 420). เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเพียงการเต็มรอบ ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติขั้นสุดท้าย).
ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐานทั้ง 4 อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ได้. (ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ 16 อย่างเต็มที่ ก็ชื่อว่ามีการเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 อย่างเต็มที่ เมื่อมีการเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 อย่างเต็มที่ ก็เป็นการเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ อย่างเต็มที่ เป็นอันว่าในสิ่งทั้ง 3 นี้ โดยพฤตินัย เมื่อกล่าวถึงสิ่งใด ก็เป็นอันกล่าวถึงสิ่งที่กล่าวแล้วทั้ง 2 ที่เหลือด้วย โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้).
- อุปริ. ม. ๑๔/๑๙๗ - ๒๐๑/๒๙๐.
เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นการง่าย ที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ; หากแต่ว่า การเจริญโพชฌงค์นั้น จักต้องเป็นไปโดยถูกวิธีอย่างยิ่ง ซึ่งท่านจำกัดความไว้ว่า โพชฌงค์ที่เจริญนั้น ต้องอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ซึ่งทั้ง 3 อย่างนั้น น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ กล่าวคือ การสละ หรือการสลัด สิ่งซึ่งเคยยึดถือไว้ด้วยอุปาทานโดยประการทั้งปวงเท่านั้น อานาปานสติขั้นที่ 16 เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยตรง เพราะฉะนั้นโพชฌงค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ดังที่พระพุทธภาษิตตรัสไว้สืบไปว่า :-