ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ภิกษุ พึงเป็นผู้ มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ : นี้เป็นอนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ในกรณีนี้ เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก ; เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก ; เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก ; เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก. ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง. ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ : นี้เป็นอนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.
- มหา. ที. ๑๐/๑๑๒/๙๐.