ไปยังหน้า : |
มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูบาอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ผู้สามารถในการครองเรือน พึงนอบน้อมทิศ ท. เหล่านี้.
บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีวาจาละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
มีความประพฤติถ่อมตัว ไม่กระด้าง เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา.
ผู้ขยันลุกขึ้น ไม่เกียจคร้าน ไม่หวั่นไหวในอันตรายใดๆ
ประพฤติตนไม่มีช่องโหว่ มีปัญญา เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา.
ผู้ชอบสงเคราะห์ สร้างสรรค์มิตรภาพ รู้ความหมายแห่งถ้อยคำ ไม่ตระหนี่
เป็นผู้นำ - นำวิเศษ – นำไม่ขาดสาย เช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับการบูชา.
การให้ทาน, การพูดจาไพเราะ, การประพฤติประโยชน์ใดๆ เมื่อควรประพฤติ, ความวางตนเสมอกันในกิจกรรม ท. ตามสมควรในกรณีนั้นๆ. สี่อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโลก ดุจหมุดสลักยึดโยงรถที่กำลังแล่นอยู่.
ถ้าไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้แล้ว มารดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร
จะเป็นการนับถือ หรือการบูชาก็ตาม บิดาก็จะไม่ได้รับอะไรจากบุตร.
เพราะเหตุที่เครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บัณฑิตมุ่งกระทำ
ดังนั้น เขาจึงถึงซึ่งคุณอันใหญ่ มีความสรรเสริญ ท. เกิดขึ้นแก่เขา.
- ปา. ที. 11/195 - 206/174 - 205.
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ความหมายของคำว่า สัมมาอาชีวะ ซึ่งเคยแปลกันแต่เพียงว่า เลี้ยงชีวิตชอบ นั้น ที่แท้แล้วอาจจะขยายความออกไปได้ถึงคำว่า “การดำรงชีพชอบ” ซึ่งมีความหมายตั้งแต่ต่ำสุด ซึ่งเป็นเรื่องของฆราวาส สูงขึ้นไปตามลำดับๆ จนถึงการดำรงอยู่ เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานที่เดียว ; ดังนั้นคำอธิบายในหมวดนี้ จึงมีตั้งแต่ชั้นต่ำสุด เช่น การปฏิบัติปิดกั้นทิศทั้งหก ซึ่งเป็นเรื่องของฆราวาส ดังที่ได้ยกมาใส่ไว้ในที่นี้ อยู่ในหมวดเดียวกันกับการปฏิบัติชั้นสูงอันมีผลถึงความสิ้นอาสวะที่เรียกว่า “โวหารสมุจเฉโท” เป็นต้นทีเดียว. ในบางกรณีก็มีการคาบเกี่ยวกันไปถึงความหมายของคำว่า สัมมาวาจา - วาจาชอบ สัมมากัมมันโต - การงานชอบ เพราะหลักธรรมเหล่านี้คาบเกี่ยวกันอยู่ โยงถึงกันอยู่เป็นธรรมดา).