สมาธิที่เป็นอสังขตมนสิการ

“มีอยู่หรือหนอ พระเจ้าข้า ! การที่ภิกษุได้เฉพาะซึ่งสมาธิชนิดที่ไม่กระทำในใจซึ่งจักษุ (และ) รูป ซึ่งโสตะ (และ) เสียง ซึ่งฆานะ (และ) กลิ่น ซึ่งชิวหา (และ) รส ซึ่งกาย (และ) โผฏฐัพพะ ไม่กระทำในใจซึ่งดิน ซึ่งน้ำ ซึ่งไฟ ซึ่งลม ไม่กระทำในใจซึ่งอากาสานัญจายตนะ ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ ซึ่งอากิญจัญญายตนะ ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่กระทำในใจซึ่งโลกนี้ ซึ่งโลกอื่น ไม่กระทำในใจแม้สิ่งซึ่งได้เห็น ได้ยิน ได้รู้สึก ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้ติดตามด้วยใจ นั้น ๆ แม้กระนั้นก็ยังกระทำในใจอยู่ ?”

อานนท์ ! การที่ภิกษุได้สมาธิชนิดที่เธอถามนั้น มีอยู่.

“มีอยู่อย่างไร พระเจ้าข้า”

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมกระทำการในใจอย่างนี้ว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติที่เป็นสงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”21.8 ดังนี้.

อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า การที่ภิกษุได้เฉพาะซึ่งสมาธิชนิดที่ไม่กระทำในใจ ซึ่งจักษุ (และ) รูป ซึ่งโสตะ (และ) เสียง ซึ่งฆานะ (และ) กลิ่น ซึ่งชิวหา (และ) รส ซึ่งกาย (และ) โผฏฐัพพะ ไม่กระทำในใจซึ่งดิน ซึ่งน้ำ ซึ่งไฟ ซึ่งลม ไม่กระทำในใจซึ่งอากาสานัญจายตนะ ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ ซึ่งอากิญจัญญายตนะ ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่กระทำในใจซึ่งโลกนี้ ซึ่งโลกอื่น ไม่กระทำในใจแม้สิ่งซึ่งได้เห็น ได้ยิน ได้รู้สึก ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้ติดตามด้วยใจ นั้น ๆ เลย ; แต่ก็ยังมีการกระทำในใจอยู่.

- เอกาทสก. อํ ๒๔/๓๔๖/๒๑๕.

(ข้อความนี้ เป็นลักษณะแห่งการเจริญสมาธิที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ อาจจะใช้เป็นคำอธิบายแห่งคำว่า “อุปสุมานุสสติ” แห่งอนุสสติสิบ ได้ดี ดีกว่าที่อธิบายกันอยู่อย่างคลุมเครือ. ยิ่งกว่านั้นยังมีความวิเศษตรงที่ว่า ง่ายสำหรับทุกคนที่จะแยกจิตออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวง มากำหนดอยู่เฉพาะสิ่งที่เป็นอสังขตะนี้เพียงสิ่งเดียว ทำให้แสวงหาความสุขหรือความเย็นจากพระนิพพานได้ง่ายขึ้น).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง