ไปยังหน้า : |
อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ (ในปฏิปทาอันเป็นที่สบาย (สัปปายปฏิปทา) แก่อาเนญชามาตามลำดับ ๆ) อย่างนี้แล้ว ย่อมได้เฉพาะซึ่งอุเบกขา (ความเข้าไปเพ่งอยู่) ว่า “ถ้า (ปัจจัย) ไม่เคยมี (ผล) ก็ต้องไม่มีอยู่แก่เรา ; ถ้า (ปัจจัยเพื่ออนาคต) จักไม่มีอยู่ (ผลในอนาคต)ก็ต้องไม่มีแก่เรา. สิ่งใดมีอยู่ สิ่งใดเป็นแล้ว เราย่อมละได้ซึ่งสิ่งนั้น” ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งอุเบกขานั้น ดํงรงอยู่. เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งอุเบกขานั้น ดำรงอยู่, วิญญาณนั้นเป็นวิญญาณอันตัณหาไม่อาศัยแล้ว นั่นคือภาวะไม่มีอุปาทาน. อานนท์ ! ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน (ดับเย็น).
“น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ! ไม่เคยมีแล้ว พระเจ้าข้า ! ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ได้ทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยแล้ว ทรงอาศัยแล้ว (ซึ่งปฏิปทาอันทรงแสดงมาแล้วตามลำดับ) ตรัสบอกซึ่งโอฆนิตถรณะ (การถอนตนขึ้นจากโอฆะ) แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล้ว”.
- อุปริ. ม. ๑๔/๗๙/๙๑.
(คำว่า โอฆนิตถรณะ ในที่นี้ คือ การถอนตนขึ้นจากโอฆะ (ความตกจมอยู่ในกิเลสและความทุกข์ ด้วยกาม - ทิฏฐิ - ภพ - อวิชชา) เป็นสิ่งที่มีได้ในภพปัจจุบัน กล่าวคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นทั้งหลาย อันมีเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับการยึดมั่นถือมั่น และไม่ยึดมั่นแม้แต่ในการบรรลุธรรมของตน ; เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ดับเย็น เป็นปรินิพพาน นี้เรียกว่า โอฆนิตถรณะ หรือ อริยวิโมกข์ ก็เรียก (ดูได้ในหัวข้อหรือเรื่องถัดไป) เป็นสิ่งที่มีได้ในภพปัจจุบัน).