ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! มรณสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เป็นธรรมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน.
ภิกษุ ท. ! มรณสติ (อันบุคคลเจริญเห็นปานนั้น) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ผ่านกลางวันมาถึงกลางคืนแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมาก คืองูฉกเรา แมลงป่อง19.5ต่อยเรา หรือตะขาบ19.5กัดเรา, หรือว่าเราเดินพลาดล้มลง อาหารไม่ย่อย ดีกำเริบ เสมหะกำเริบ หรือลมสัตถกวาตกำเริบ, หรือว่าพวกมนุษย์หรืออมนุษย์ทำร้ายเรา, ความตายก็จะมีแก่เรา : นั่นเป็นอันตรายของเรา” ดังนี้. ภิกษุนั้น พึงพิจารณาสืบไปว่า “มีอยู่หรือไม่หนอ บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ แล้วเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละลงไปในคืนนี้” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า บาปอกุศลธรรมอย่างนั้นมีอยู่, ภิกษุนั้น พึงกระทำซึ่งฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า เพื่อละเสียซึ่งบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น (โดยด่วน) เช่นเดียวกับบุคคลผู้มีเสื้อผ้าหรือศีรษะอันไฟลุกโพลงแล้ว จะพึงกระทำฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ อันแรงกล้า เพื่อจะดับไฟที่เสื้อผ้าหรือที่ศีรษะนั้นเสีย, ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า บาปอกุศลธรรมอย่างนั้นไม่มีอยู่, ภิกษุนั้น พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์นั้นนั่นแหละ ตามศึกษาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย.
(ในกรณีแห่งภิกษุผู้ ผ่านกลางคืนมาถึงกลางวัน ก็มีข้อความที่ตรัสไว้ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน, ผิดกันแต่เวลาเท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! มรณสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เป็นธรรมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน.
- อฏฺจก. อํ. ๒๓/๓๓๑/๑๗๑.