ไปยังหน้า : |
อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มีเท่าไร ?
“มี 5 อย่าง พระเจ้าข้า”
5 อย่าง อย่างไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน .... เข้าถึง ทุติยฌาน .... เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ กระทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น, กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น, เธอมีจิตอันเปิดแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่างทั่วพร้อมให้เจริญอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ จากพื้นเท้าขึ้นไปสู่เบื้องบน จากปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า : ในกายนี้มี ผม ท. ขน ท. เล็บ ท. ฟัน ท. หนัง เนื้อ เอ็น ท. กระดูก ท. เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการละซึ่งกามราคะ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ พึงเห็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าที่ทิ้งศพ ตายแล้ววันหนึ่ง บ้าง ตายแล้ว 2 วัน บ้าง ตายแล้ว 3 วัน บ้าง กำลังขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีหนองไหลน่าเกลียด ฉันใด, เธอนั้น พึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ฉันนั้น ว่า แม้กายนี้ ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ; หรือว่า ภิกษุ พึง เห็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าที่ทิ้งศพ อันฝูงกาบ้าง จิกกินอยู่ อันฝูงนกตะกรุมบ้าง จิกกินอยู่ อันฝูงแร้งบ้าง เจาะกินอยู่ อันฝูงสุนัขบ้าง กัดกินอยู่ อันฝูงสุนัขจิ้งจอกบ้าง กัดกินอยู่ อันหมู่หนอนต่างชนิดบ้าง บ่อนกินอยู่ ฉันใด, เธอนั้น ก็พึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ ฉันนั้น ว่า แม้กายนี้ ก็มีธรรมดา เป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ; หรือว่า ภิกษุพึง เห็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ เป็นร่างกระดูกมีเนื้อและเลือด ยังมีเอ็นเป็นเครื่องรึงรัด, เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังมีน้ำเลือดเปื้อนอยู่ ยังมีเอ็นเป็นเครื่องรึงรัด, เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือด แต่ยังมีเอ็นรึงรัด, เป็นท่อนกระดูกทั้งหลาย ไม่มีเอ็นรึงรัด กระจัดกระจายไปในทิศต่าง ๆ กระดูกมือไปทาง กระดูกเท้าไปทาง กระดูกแข้งไปทาง กระดูกขาไปทาง กระดูกสะเอวไปทาง กระดูกสันหลังไปทาง กระโหลกศีรษะไปทาง ฉันใด, เธอนั้นก็พึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ ฉันนั้นว่า แม้กายนี้ ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ ; หรือว่า ภิกษุ พึง เห็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ เป็นชิ้นกระดูกทั้งหลาย มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์, เป็น ชิ้นกระดูกทั้งหลาย เป็นกอง ๆ เรี่ยรายอยู่นานเกินกว่าปีหนึ่ง เป็น กระดูกทั้งหลาย เปื่อยเป็นผงละเอียด ฉันใด, เธอนั้นก็พึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ ฉันนั้นว่า แม้กายนี้ ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อถอนขึ้นซึ่งอัส๎มิมานะ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อการแทงตลอดซึ่งธาตุเป็นอเนก.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เหล่านี้แล ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ 5 อย่าง."
ดีละ ดีละ อานนท์ ! อานนท์ ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงทรงจำ ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติที่ 6 นี้ไว้ คือ ภิกษุในกรณีนี้ มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ มีสติยืนอยู่ มีสตินั่งอยู่ มีสติสำเร็จการนอนอยู่ มีสติอธิษฐานการงาน. อานนท์ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.
- ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๖๐ - ๓๖๒/๓๐๐.
(ฐานะแห่งอนุสสติ 5 ข้อ ข้างต้น เป็นสติสัมปชัญญะโดยอ้อม แม้จะเป็นสาวกภาษิต แต่ก็เป็นคำกล่าวแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จนพระองค์ทรงรับรอง ถือว่ามีน้ำหนักเท่ากับพระพุทธภาษิต จึงนำมาใส่ไว้ในที่นี้. ส่วนสติสัมปชัญญะโดยตรงนั้น ได้แก่ อนุสสติฐานะที่หก มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในพุทธภาษิตนั้นแล้ว).