ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้น....15.3 อัพ๎ยาปาวิตก ย่อมเกิดขึ้น ...... อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น. เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว, ก็อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย, แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นเพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ. แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดวัน, หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้นเพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ.
ภิกษุ ท. ! ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนัก กายก็เมื่อยล้า, เมื่อกายเมื่อยล้า, จิตก็อ่อนเพลีย, เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ, เพราะเหตุนั้น เราจึงดำรงจิตให้หยุดอยู่ภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้. ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า? เพราะเราประสงค์อยู่ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง เนกขัมมวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการออกจากกาม (เนกขัมมวิตก). ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอัพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอัพ๎ยาปาทวิตก; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท (อัพ๎ยาปาทวิตก) ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย กระทำมากแล้วในอวิหิงสาวิตก; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่ยังให้สัตว์ให้ลำบาก (อวิหิงสาวิตก)
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมด เขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้. เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ พึงทำแต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโคดังนี้ (ก็พอแล้ว) ฉันใด; ภิกษุ ท. ! ถึงภิกษุก็เพียงแต่ทำความระลึกว่า นั่นธรรมทั้งหลายดังนี้ (ก็พอแล้ว) ฉันนั้นเหมือนกัน.
- มู. ม. 12/232-236/252.