ญานระงับความรัก - เกลียดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

ภิกษุ ท.! ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเกิดอยู่เป็น 4 ประการ. 4 ประการอย่างไรเล่า ? 4 ประการ คือ ความรักเกิดจากความรัก ความเกลียดเกิดจากความรัก ความรักเกิดจากความเกลียด ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความรักเกิดจากความรัก ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ” ดังนี้ ; บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความรักเกิดจากความรัก.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความรัก ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่พอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้ ; บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความรัก.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความรักเกิดจากความเกลียด ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่พอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้ ; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความรักเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความเกลียด ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่พอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้ ; บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล คือธรรมารมณ์ ย่อมเกิดอยู่เป็น 4 ประการ.

ภิกษุ ท.! สมัยใด ภิกษุ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ ; สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี, ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี.

ภิกษุ ท.! สมัยใด ภิกษุ เข้าถึงทุติยฌาน . . . . ตติยฌาน . . . . จตุตถฌาน . . . . แล้วแลอยู่ ; สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี, ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี, ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี.

(ข้อความตอนต่อไปจากนี้ กล่าถึงการบรรลุวิมุตติ ซึ่งระงับความรักและความเกลียดอย่างถอนราก พึงดูรายละเอียดจากหัวข้อ ว่า “ผู้ถอนรากแห่งความรักและความเกลียดได้แล้ว” ที่หน้า 637 แห่งหนังสือนี้).

- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๙๐-๒๙๒/๒๐๐.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง