ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! ....ภิกษุนั้น เห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดีในรูปอันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ; ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง ; เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกายอันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย ; ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุตติ อันเป็นธรรมที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย ด้วย.
ภิกษุนั้น เป็นผู้ละเสียได้แล้วซึ่งความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาใด ๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุขก็ตาม ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้น ๆ.
เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้น ๆ ; นันทิ (ความกำหนัดยินดีเพราะได้ตามใจอยาก) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้นย่อมดับไป. เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับกห่งชาติ ; เพราะมีความดับแห่งชาติ , ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น. ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งหมดนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
(ในกรณีแห่ง การได้ยินเสียงด้วยหู รู้สึกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสทางผิวหนังด้วยผิวกาย และ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน).
ภิกษุ ท.! เธอจงทรงธรรมะนี้ไว้ ในฐานะที่เป็นธรรมทำความหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา ซึ่งเรากล่าวไว้โดยสังเขป.
- มู. ม. 12/494/458.
(เกี่ยวกับเรื่องการทำความหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาซึ่งตรัสไว้โดยสังเขป ดังตรัสในสูตรข้างบนนี้ ในสูตรอื่น (มู. ม.12/470/439 ; สตฺตก. อํ.23/90/58) ได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุที่ได้สดับแล้วว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ชื่อว่ารู้ยิ่งธรรมทั้งปวงรอบรู้ธรรมทั้งปวง เสวยเวทนาใด ๆ เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับ ความสลัดคืนในเวทนานั้น ๆ ประจำ ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก ไม่สะดุ้งหวาดเสียว ปรินิพพานเฉพาะตน, ดังนี้ก็มี).