ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ผู้ที่กล่าวอยู่ว่านิวรณ์ทั้ง 5 คืออกุสลราสี (กองอกุศล) นั่นแหละคือผู้ที่กล่าวอยู่โดยถูกต้อง. ภิกษุ ท. ! อกุสลราสีทั้งกองนี้ ได้แก่ นิวรณ์ทั้ง 5. 5 อย่างไรกันเล่า ? 5 คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา.
ภิกษุ ท. ! ผู้ที่กล่าวอยู่ว่าสติปัฏฐานทั้ง 4 คือกุสลราสี (กองกุศล) นั่นแหละคือผู้ที่กล่าวอยู่โดยถูกต้อง. ภิกษุ ท. ! กุสลราสีทั้งกองนี้ ได้แก่สติปัฏฐานทั้ง 4. 4 อย่างไรกันเล่า ? 4 ในกรณีนี้ คือ ภิกษุเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่. (ในกรณีแห่ง เวทนา จิต และธรรม ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน).
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๙๖/๖๙๖ – ๖๙๗.
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า เมื่อกล่าวถึงกองอกุศล คนทั่วไปก็เล็งถึงการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต ฉ้อโกง เป็นต้นต่าง ๆ นานา ; และเมื่อกล่าวถึงกองกุศล คนทั่วไปก็พากันเล็งไปยังการทำบุญสุนทรทาน ทอดกฐินผ้าป่า เป็นต้นต่าง ๆ นานา. ส่วนในกรณีนี้ ตรัสระบุให้เห็นว่า นิวรณ์ที่รบกวนอยู่ในจิตใจของแต่ละคนแต่ละวันนั่นแหละเป็นกองอกุศล ; และว่าการเจริญสติปัฏฐานสี่เป็นกองกุศล. และน่าสนใจในข้อที่ว่ากองกุศลชนิดนี้ ไม่ต้องใช้เบี้ยหอยเงินทองแม้แต่สักเบี้ยเดียว, ขอให้ช่วยกันพิจารณาด้วย).