ไปยังหน้า : |
“พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องทางหรือมิใช่ทางนั้น แม้พราหมณ์ทั้งหลายจะบัญญัติไว้ต่างๆ กัน คือพวกอัทธริยพราหมณ์ก็บัญญัติ พวกติตติริยพราหมณ์ก็บัญญัติ พวกฉันโทกพราหมณ์ก็บัญญัติ พวกพัว๎หริธาพราหมณ์ก็บัญญัติ แต่ทางทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่เป็นทางนำออก สามารถนำผู้ปฏิบัติตามทางนั้นไปสู่ความเป็นสหายแห่งพรหมได้ เปรียบเสมือนทางต่างๆ มีเป็นอันมากใกล้บ้านใกล้เมือง ก็ล้วนแต่ไปประชุมกันที่บ้านแห่งหนึ่งทุกๆ ทาง ฉันใดก็ฉันนั้น.”
วาเสฏฐะ ! ในบรรดาพราหมณ์ไตรเพททั้งหลายเหล่านั้น มีพราหมณ์สักคนหนึ่งไหม ที่ได้เห็นพรหมโดยประจักษ์ ?
“ข้อนั้น หามีไม่ พระโคดม !”
วาเสฏฐะ ! ถ้าอย่างนั้น มีอาจารย์สักคนหนึ่งไหม ของพราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น ที่ได้เห็นพรหมโดยประจักษ์ ?
“ข้อนั้น หามีไม่ พระโคดม !”
วาเสฏฐะ ! ถ้าอย่างนั้น มีประธานอาจารย์แห่งอาจารย์สักคนหนึ่ง ของพราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้นไหม ที่ได้เห็นพรหมโดยประจักษ์ ?
“ข้อนั้น หามีไม่ พระโคดม !”
วาเสฏฐะ ! มีอาจารย์ที่สืบกันมาถึง 7 ชั่ว ของพราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น สักคนหนึ่งไหม ที่ได้เห็นพรหมโดยประจักษ์ ?
“ข้อนั้น หามีไม่ พระโคดม !”
วาเสฏฐะ ! ในบรรดาฤษีเก่าแก่ทั้งหลาย คือ ฤษีอัฏฐกะ ฤษีวามกะ ฤษีวามเทวะ ฤษีเวสสามิตตะ ฤษียมตัคคี ฤษีอังคีรสะ ฤษีภารท๎วาชะ ฤษีวาเสฏฐะ ฤษีกัสสปะ ฤษีภคุ ผู้ได้ประกอบมนต์ขึ้น บอกกล่าวแก่พราหมณ์ ไตรเพททั้งหลาย ให้ขับตาม ให้กล่าวตาม ให้สวดตาม ให้บอกตาม กันสืบๆ มา จนกระทั่งกาลนี้ เหล่านั้น มีฤษีสักตนหนึ่งไหมในบรรดาฤษีเหล่านั้น ที่กล่าวยืนยันอยู่ว่า เรารู้เราเห็น ว่าพรหมอยู่ที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร ณ ที่ใด ดังนี้ ?
“ข้อนั้น หามีไม่ พระโคดม !”
วาเสฏฐะ ! เมื่อไม่มีพราหมณ์ อาจารย์ของพราหมณ์ หรือฤษีผู้บอกมนต์แก่พราหมณ์ แม้สักคนหนึ่งที่เคยเห็นพรหมโดยประจักษ์ แล้วมาแสดงหนทางไปสู่ความเป็นสหายแห่งพรหม อยู่ดังนี้ ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : คำกล่าวของพราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นคำกล่าวที่ไม่ประกอบด้วยปาฏิหาริย์16.1 (อปฺปาฏิหิริกตํ) มิใช่หรือ ?
“แน่แล้ว พระโคดม ! เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของพราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นคำกล่าวที่ไม่ประกอบด้วยปาฏิหาริย์”
ถูกแล้ว, วาเสฏฐะ ! ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ไม่เห็นพรหม จะมากล่าวแสดงหนทางไปสู่ความเป็นสหายกับพรหม ดังนี้นั้น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้, วาเสฏฐะ ! เปรียบเหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกัน คนต้นแถวก็ไม่เห็นอะไร คนกลางแถวก็ไม่เห็นอะไร คนปลายแถวก็ไม่เห็นอะไร นี้ฉันใด ; วาเสฏฐะ ! คำกล่าวของพราหมณ์ไตรเพททั้งหลาย ก็มีอุปมาเหมือนแถวแห่งคนตาบอด ฉันนั้นแหละ คือผู้กล่าวพวกแรกก็ไม่เห็นพรหม ผู้กล่าวพวกต่อมาก็ไม่เห็นพรหม ผู้กล่าวพวกสุดท้ายก็ไม่เห็นพรหม ; ดังนั้นคำกล่าวของเขาก็ถึงซึ่งความเป็นคำกล่าวที่น่าหัว (หสฺสก) คำกล่าวที่ต่ำต้อย (นามก) คำกล่าวเปล่าๆ ปลี้ๆ (ริตฺตก) คำกล่าวเหลวไหล (ตุจฺฉก).
(นี้เป็นตัวอย่างแห่งสัมผัปปลาปวาทระดับสูงชนิดที่หนึ่ง)