ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษเที่ยวไปในป่าทึบ เกิดพบรอยทางซึ่งเคยเป็นหนทางเก่า ที่มนุษย์แต่กาลก่อนเคยใช้เดินแล้ว. บุรุษนั้นจึงเดินตามทางนั้นไป เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครซึ่งเป็นราชธานีโบราณ อันมนุษย์ทั้งหลายแต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว เป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยสวน สมบูรณ์ด้วยป่าไม้ สมบูรณ์ด้วยสระโบกขรณี มีซากกำแพงล้อม มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์. ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น บุรุษนั้นเข้าไปกราบทูลแจ้งข่าวนี้แก่พระราชา หรือแก่มหาอำมาตย์ของพระราชาว่า “ขอท้าวพระกรุณาจงทรงทราบเถิด : ข้าพระเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ ได้เห็นรอยทางซึ่งเคยเป็นหนทางเก่า ที่มนุษย์แต่กาลก่อนเคยใช้เดินแล้ว. ข้าพระเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครซึ่งเป็นราชธานีโบราณ อันมนุษย์ ท. แต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว เป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยสวน สมบูรณ์ด้วยป่าไม้ สมบูรณ์ด้วยสระโบกขรณี มีซากกำแพงล้อม มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์. ขอพระองค์จงปรับปรุงสถานที่นั้นให้เป็นนครเถิด พระเจ้าข้า !” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชานั้น จึงปรับปรุงสถานที่นั้นขึ้นเป็นนคร. สมัยต่อมา นครนั้นได้กลายเป็นนครที่มั่งคั่งและรุ่งเรือง มีประชาชนมาก เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์ ถึงแล้วซึ่งความเจริญไพบูลย์, นี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : เราได้เห็นแล้วซึ่งรอยทางเก่าที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว.
ภิกษุ ท. ! ก็รอยทางเก่า ที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้นั่นเทียว ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้แล รอยทางเก่าที่เป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว. เรานั้น ได้ดำเนินไปตามแล้วซึ่งหนทางนั้น. เมื่อดำเนินไปตามซึ่งหนทางนั้นอยู่, เราได้รู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งชรามรณะ, ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ, ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ;
(ข้อความต่อไปนี้ ได้ตรัสถึง ชาติ - ภพ - อุปาทาน – ตัณหา - เวทนา - ผัสสะ - สฬายตนะ - นามรูป - วิญญาณ - สุดลงเพียง - สังขาร (แต่ละอย่าง) โดยอาการทั้ง 4 ดังที่ได้ตรัสในกรณีแห่งชรามรณะ เหมือนกันทุกตัวอักษร เว้นแต่ชื่อของตัวปฏิจจสมุปปันธรรมนั้นๆ เท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! เรานั้น, ครั้นรู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งหนทางนั้น, ได้บอกแล้วแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์นี้ ที่เรากล่าวบอกแล้วนั้น ได้เป็นพรหมจรรย์ตั้งมั่น และรุ่งเรืองแล้ว เป็นพรหมจรรย์แผ่ไพศาล เป็นที่รู้แห่งชนมาก เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสามารถประกาศได้ด้วยดีแล้ว, ดังนี้.
- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๘/๒๕๓.