ไปยังหน้า : |
กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :-
อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน (ตกฺกเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะสันนิฏฐาน (นยเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า สมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ).
กาลาม ท. ! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล, ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล, ” ดังนี้แล้ว; เมื่อนั้น ท่านพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด.
กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ความไม่โลภ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่โลภแล้ว ความโลภไม่ครอบงำแล้ว ความโลภไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” .
กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโทสะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่มีโทสะแล้ว โทสะไม่ครอบงำแล้ว โทสะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” .
กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโมหะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่มีโมหะแล้ว โมหะไม่ครอบงำแล้ว โมหะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”.
กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ธรรมทั้งหลาย (ตามที่กล่าวมา) เหล่านี้ เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล ? “เป็นกุศล พระเจ้าข้า !” มีโทษหรือไม่มีโทษ ? “ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า !” วิญญูชนติเตียน หรือวิญญูชนสรรเสริญ ? “วิญญูชนสรรเสริญพระเจ้าข้า !” เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ? “เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ในเรื่องนี้พวกข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า !”
กาลาม ท. ! เรา (อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างบนทั้งหมดนั้น) จึงกล่าวข้อความที่กล่าวว่า “กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :-
อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรก (ตกฺกเหตุ); อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะ (นยเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า สมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ).
กาลาม ท. ! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล, ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุขเป็นประโยชน์เกื้อกูล’ ดังนี้แล้ว; เมื่อนั้น ท่านพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้ ซึ่งเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยเหตุผลข้างต้นนั้น.
กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น ปราศจากอภิชฌาอย่างนี้ ปราศจากพยาบาทอย่างนี้ ไม่มีโมหะ มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยเมตตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยกรุณา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยมุทิตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่.
กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจดวิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ 4 ประการ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว ว่า “1. ถ้าปรโลกมีผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี, ฐานะที่จะมีได้ก็คือ เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เพราะเหตุนั้น ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่หนึ่ง ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 2. ถ้าปรโลกไม่มีผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี, เราที่นี่ในทิฏฐธรรมนี้แหละ ก็บริหารตนอยู่เป็นสุข ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไม่มีทุกข์ ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 3 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 3. ถ้าบาปเป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ, ส่วนเราไม่ได้คิดจะทำบาปไรๆ ทุกข์จักถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปอยู่ แต่ที่ไหน ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 3 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 4. ถ้าบาปไม่เป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ อยู่แล้วไซร้, ที่นี่ เราก็มองเห็นตนว่าบริสุทธิ์หมดจดอยู่ โดยโลกทั้งสอง ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 4 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจดวิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ 4 ประการเหล่านี้ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว.
“ข้าแต่ผู้มีพระภาค ! ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น. ข้าแต่พระสุคต ! ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น....” (ชาวกาลามเหล่านั้น รับสนองพระพุทธดำรัสกล่าวย้ำข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยตนเอง, แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสก).
- ติก. อ. 20/246-248/505.
(ผู้ศึกษาอาจจะสังเกตเห็นได้เองว่า การศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยสัจสี่ประการนั้น จะไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรทั้งสิบประการแต่อย่างใด เพราะมีเหตุผลที่แสดงชัดอยู่ในตัวเองว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร มรรคอาจจะดับทุกข์ได้แท้จริงอย่างไร โดยไม่ต้องเชื่อคำบอกตามๆ กันมา ไม่ต้องดูการประพฤติตามๆ กันมา หรือเชื่อตามคำเล่าลือ หรืออ้างว่ามีอยู่ในตำรา หรือใช้เหตุผลตามทางตรรก หรือตามทางนัยะคือปรัชญา หรือตรึกตามสามัญสำนึก หรือเพราะเข้ากันได้กับเหตุผลของตน หรือผู้พูดอยู่ในฐานะน่าเชื่อ หรือผู้พูดเป็นครูของตน ซึ่งพระองค์เองก็ได้ตรัสย้ำในข้อนี้อยู่เสมอ. เป็นอันกล่าวได้ว่า ความรู้และการปฏิบัติในอริยสัจทั้งสี่นี้ ไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องงมงาย หรือสีลัพพัตตปรามาส อันขัดต่อหลักกาลามสูตร แต่อย่างใด).