ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่น จะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า “อาวุโส ท. ! ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไรกัน ?” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พวกเธอพึงพยากรณ์แก่เขาว่า “อาวุโส ท. ! เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์แก่การ สำรอกซึ่งราคะ (ราควิราคตฺถํ). [และยังมีในสูตรอื่นที่ตรัสว่า :-
เพื่อประโยชน์แก่การ ละสังโยชน์ (สญฺโญชนปหานตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่การ ถอนอนุสัย (อนุสยสมุคฺฆาตนตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่การ กำหนดรู้ความที่สัตว์ ต้องเดินทางไกลด้วยอวิชชา (อทฺธานปริญฺญตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่ความ สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวานํ ขยตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่การ ทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ (วิชฺชาวิมุตฺติผลสจฺฉิกิริยตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่ การรู้การเห็น (ญาณทสฺสนตฺถํ) ดังนี้ก็มี ;
เพื่อประโยชน์แก่การ ดับเย็นในทิฏฐธรรมเพราะไม่ยึดมั่น (อนุปาทาปรินิพฺพานตฺถํ) ดังนี้ก็มี].
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่น จะพึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า “อาวุโส ท. ! มรรคมีหรือ ปฏิปทามีหรือ เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ ?” ภิกษุ ท. ! เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พวกเธอพึงพยากรณ์แก่เขาว่า มรรคมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ.
ภิกษุ ท. ! มรรคนั้นเป็นอย่างไร ปฏิปทานั้นเป็นอย่างไร เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ ? อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเอง, ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ : ภิกษุ ท. ! นี้แลมรรค นี้แลปฏิปทา เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ.
(ข้อความสองย่อหน้าข้างบนนี้ มีต่อท้ายหลักธรรมที่เป็นจุดหมายของพรหมจรรย์ ตามรายนามที่กล่าวไว้ข้างบนทุกๆ ข้อ เช่นข้อว่า “เพื่อประโยชน์แก่การละสังโยชน์” เป็นต้น ผู้ศึกษาพึงกำหนดเอาเอง).
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๓ - ๓๕/๑๑๗ - ๑๒๘.